ดีเอสไอ โต้ข้อสอบหลุด ยันความปลอดภัยระดับลับที่สุด ติดกล้องเฝ้า 24 ชม.

Home » ดีเอสไอ โต้ข้อสอบหลุด ยันความปลอดภัยระดับลับที่สุด ติดกล้องเฝ้า 24 ชม.



ดีเอสไอ โต้ข้อสอบเลื่อนตำแหน่งหลุด ยันรักษาความปลอดภัยข้อสอบระดับลับที่สุด พร้อมเก็บตัวกรรมการ ริบโทรศัพท์ก่อนสอบ 1 วัน มีกล้องวงจรปิดเฝ้า 24 ชม.

วันที่ 12 ม.ค. 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงกรณีมีการร้องว่ามีการทุจริตสอบเลื่อนตำแหน่ง โดยมีคนสนิทของอธิบดีสามารถนำข้อสอบออกมาเฉลยจนได้เลื่อนตำแหน่ง ว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการชี้แจงไปเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2565 จากนั้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566 ได้เกิดขบวนการทำลายภาพลักษณ์องค์กรด้วยการส่งข้อความกันในกลุ่มไลน์ ซึ่งมีการไฮไลต์ข้อความ เอกสารแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในช่วงที่ระบุถึงการจัดสอบแข่งขันได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นผู้ดำเนินการทั้งการออกข้อสอบและตรวจคะแนนทั้งหมด

พร้อมมีการจัดทำและเผยแพร่เอกสารปลอมการชี้แจงของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตว่า ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการในการจัดการสอบข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวนเงิน 280,000 บาท โดยดำเนินการเฉพาะในเรื่องของการจัดสถานที่ในการสอบ และการควบคุมดูแลในวันสอบเท่านั้น ส่วนการออกข้อสอบและตรวจคะแนนไม่ได้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อเท็จจริงตามสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่ออกข้อสอบและตรวจคะแนน

ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีข้อสอบหลุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอชี้แจงว่า เรามีมาตรการรักษาความปลอดภัย และการรักษาความลับ โดยกำหนดให้เป็นความลับในระดับ “ลับที่สุด” ซึ่งนอกจากกรรมการออกข้อสอบ กรรมการกลั่นกรองข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ผู้รับจ้างมีมาตรการในการเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ กรรมการกลั่นกรองข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ โดยมีการเก็บตัวก่อนวันสอบ 1 วัน ในสถานที่กำหนด เก็บโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด การติดตั้งกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ตลอด 24 ชม. พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณสถานที่ออกข้อสอบและสถานที่เก็บตัว และจะให้ออกจากสถานที่เก็บตัวได้หลังจากที่การสอบเสร็จสิ้นแล้ว

การสอบคัดเลือกข้าราชการในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิ์สอบรวมทั้งสิ้น 391 คน มีผู้ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพียง 87 คน และยังมีตำแหน่งว่างคงเหลือจากการสอบครั้งนี้อีก 20 อัตรา ที่ต้องดำเนินการคัดเลือกในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอีกเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับที่มีผู้ร้องเรียน ว่ามีการเฉลยข้อสอบก่อน หากมีข้อสอบหลุดจริงก็น่าจะไม่มีตำแหน่งว่าง

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่า การดำเนินการจัดสอบในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งไม่มีการทุจริตในการสอบเลื่อนตำแหน่ง เพราะตามสัญญาการว่าจ้าง กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถรู้ข้อสอบล่วงหน้าได้

ดังนั้น ข้อกล่าวหาว่ามีการนำข้อสอบออกมาเฉลยนั้นจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง ดังที่เห็นว่ามีกระบวนการสร้างข้อมูลปลอมที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่จัดสถานที่ในการสอบ และการควบคุมดูแลในวันสอบเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดตามมาตรฐานการสอบของมหาวิทยาลัย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ