ดีอีเอส จับมือ กัมพูชา เร่งปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามแดน

Home » ดีอีเอส จับมือ กัมพูชา เร่งปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามแดน


ดีอีเอส จับมือ กัมพูชา เร่งปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามแดน

ดีอีเอส-กัมพูชา ผนึกลงนามความร่วมมือ 4 ด้าน ประสานงานแก้ไขปัญหาปราบมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามแดน ขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดในฝั่งกัมพูชา

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้การต้อนรับเเละร่วมประชุมหารือผ่านออนไลน์กับนายเจีย วันเดค รมว.ไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในโอกาสเยี่ยมคารวะและหารือในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยมีประเด็นหารือร่วมกันครอบคลุม 4 หัวข้อหลัก เพื่อขยายความร่วมมือในการประสานงานแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีการข้ามเขตแดนเพื่อก่อการละเมิดกฎหมายของไทยและกัมพูชา สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน และความเสียหายต่อรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า วันนี้มีการหารือประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์/Hybrid Scam หลอกลงทุน และเตรียมทำเอ็มโอยูระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันเเก้ปัญหาดังกล่าว โดยที่ผ่านมาพบปัญหามิจฉาชีพและกลุ่มอาชญากรรมข้ามเขตแดนไทย-กัมพูชา และใช้เป็นฐานในกระทำผิดกฎหมายข้ามแดน และหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมดำเนินคดีจากหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ได้รับแจ้งจากการกลุ่มผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งถูกหลอกลวงจากคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุน และแก๊งพนันออนไลน์หลายเว็บไซต์ มูลค่าความเสียหายกว่าหลายร้อยล้านบาท

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า จากการสืบสวน ทราบว่าคนร้ายบางส่วนใช้วิธีโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต (VOIP) ทราบ IP Address ที่คนร้ายใช้กระทำความผิด เมื่อตรวจสอบกับสถานที่ทำธุรกรรมการเงินของคนร้าย พบว่าตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ และเมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเงินที่คนร้ายได้จากการกระทำความผิด จะฟอกเงินผ่านร้านรับแลกเงินในกัมพูชา หรือเงินสกุลดิจิทัล

ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนคดีที่เหยื่อได้แจ้งความ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และเตรียมแนวทางขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเพื่อปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามประเทศ

“ที่ผ่านมา เรายังหารือการส่งเสริมความร่วมมือการต่อต้านข่าวปลอม เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเดินทางข้ามมายังเขตแดนไทย เพื่อโพสต์ข้อความเพื่อโจมตีรัฐบาลกัมพูชาผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งนี้ เพื่อหลบหลีกจากการที่รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสอดส่อง (เซ็นเซอร์) การโพสต์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามแฟลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ” นายชัยวุฒิกล่าว

สำหรับประเด็นการหารือร่วมกันครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.การแต่งตั้ง Contact point ในการประสานงานตรวจค้นพยานหลักฐานที่พบในกัมพูชา และการขยายการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิด เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการส่งพยานหลักฐานให้ทางฝ่ายไทยอย่างเดียว และนำไปขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดที่กัมพูชาไม่ได้

2.การประสานงานในการขอข้อมูลผู้ใช้บริการ VOIP ฝั่งกัมพูชา, IP Address และข้อมูลการโทรศัพท์ที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด เพื่อใช้ในการสืบสวนจากฝั่งไทย-กัมพูชา และกัมพูชา-ไทย

3.การจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งฝ่ายไทย-กัมพูชา และ 4.การจัดทำ MoU ระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์/Hybrid Scam

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ