ดับแล้ว 3 ราย ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ จับตาหลังสงกรานต์ หวั่นรักษาช้า เหตุอาการคล้าย ‘โควิด’

Home » ดับแล้ว 3 ราย ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ จับตาหลังสงกรานต์ หวั่นรักษาช้า เหตุอาการคล้าย ‘โควิด’


ดับแล้ว 3 ราย ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ จับตาหลังสงกรานต์ หวั่นรักษาช้า เหตุอาการคล้าย ‘โควิด’

ดับแล้ว 3 ราย ป่วย ‘ไข้เลือดออก’ จับตาหลังสงกรานต์ อาจระบาดหนัก หวั่นรักษาช้า เหตุอาการคล้าย ‘โควิด’ ในช่วงแรก แนะวิธีสังเกตอาการ

วันที่ 21 มี.ค.65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด-19 ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของไทย ข้อบ่งชี้การระบาดคือ ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งขณะนี้สำรวจพบว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะต้นปีนี้มีฝนมาก จับสัญญาณว่า ไข้เลือดออกน่าจะมาแรง อาจเริ่มระบาดหลังสงกรานต์มากขึ้น และน่าจะระบาดมาก

เพราะรูปแบบการระบาดของไข้เลือดออกลักษณะเป็นปีเว้นปีหรือเว้น 2 ปี คนติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ 1 ปี แต่ไข้เลือดออกไม่ได้ระบาดในไทยมา 2 ปีแล้ว คาดว่าภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกจะต่ำมาก สำหรับปีนี้คาดว่าจะเป็นไข้เลือดออกไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งน่ากังวล เพราะหากติดเชื้อร่วมกับสายพันธุ์อื่นจะทำให้โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง

“ไข้เลือดอกไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ มีจุดวิกฤตคือ เมื่อไข้สูงแล้วไข้กำลังลด หลังจากนั้นจะมีอาการเลือดออก และช็อก ช่วงนี้จึงต้องประคับประคองให้ดีอย่างใกล้ชิด เช่น นำเลือดออก ให้สารน้ำเพื่อป้องกันอาการช็อก และหากเลือดออกมาก ก็จะเกิดน้ำท่วมปอดเสียชีวิตได้” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า อาการไข้เลือดออกช่วงแรกใกล้เคียงโควิดมาก และด้วยโควิดระบาดทั่วประเทศ เมื่อติดเชื้ออาการช่วงแรกจะมีไข้ ซึ่งอาจจะแยกไม่ออก ยกเว้นจะมีอาการระบบทางเดินหายใจชัดว่าเป็นโควิด เช่น น้ำมูก เจ็บคอ แต่ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ก็จะเป็นอาการไข้เลือดออก ฉะนั้น หากมีอาการคล้ายเป็นไข้เลือดออก ก็ขอให้พบแพทย์ เจาะเลือดวินิจฉัย อย่าคิดว่าตัวเองเป็นเฉพาะโควิด และโรคสองอย่างเป็นพร้อมกันได้

“เราเจอผู้เสียชีวิตแล้ว อาการมีไข้ ปวดหัว มีน้ำมูกนิดหน่อย คิดว่าเป็นโควิด ตรวจเจอโควิด แต่อาการเริ่มแย่ลง มีอาเจียนเป็นเลือด แพทย์เจาะเลือดตรวจพบไข้เลือดออก ฉะนั้น ถ้าเจออาการแปลกๆ ไม่แน่ใจ ให้รีบพบแพทย์ นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนทุกฝ่าย ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. ช่วยกันกำจัดลูกน้ำในภาชะที่มีน้ำขัง เพื่อลดโอกาสเกิดยุงลาย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับ 3 เดือนแรกของปีนี้ พบเสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้ว 3 รายเมื่อเทียบกับปีที่แล้วทั้งปีเสียชีวิต 6 ราย สำหรับกลุ่มที่ต้องระวัง เดิมจะเป็นเด็ก แต่หลังๆ พบในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่เริ่มป้องกันลูกมากขึ้น แต่ผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้ระวังตัว แม้แต่อายุ 60 ปีก็เป็นได้ เป็นได้ทุกกลุ่มอายุคิดว่าเป็นไข้หวัดทั่วไปหรือโควิด ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ขณะนี้กรมควบคุมโรคเตรียมแผนรองรับแล้ว วันที่ 22 มี.ค.จะเสนอในที่ประชุมสำนักงานปลัด สธ. เพื่อให้ นพ.สสจ.นำแผนปรับใช้ผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ไม่ได้ดูเฉพาะโควิดอย่างเดียว แต่ต้องดูโรคที่ก่ออันตรายให้ประชาชนทั้งหมด แผนแบ่งเป็นระยะ คือ ก่อนระบาดจะต้องติดตามดูกรณีเจอคนไข้สงสัยรายแรกให้รีบเข้าไปควบคุม ขณะนี้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เพื่อสำรวจและพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย

เมื่อถามว่าผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกปีนี้เกิดจากรู้ตัวและรักษาช้าหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เกิดขึ้นทั้งจากรู้ตัวช้า คิดว่าติดโควิด คิดว่าจะไม่เป็นอะไร และไม่นึกว่าไข้เลือดออกปีนี้จะมาแรงและเร็ว บางคนคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาก็ไปกินยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs หรือแอสไพริน จะทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารมากขึ้น ซึ่งผู้เสียชีวิตปีนี้เป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ยังไม่พบเด็กเล็กเสียชีวิต ต้องระวังต่อไป

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกมีฤดูกาลระบาด โดยเฉพาะฤดูฝน ลักษณะการระบาดปีเว้นปีหรือเว้น 2 ปี ซึ่งปีนี้กรมควบคุมโรคพยากรณ์ว่าจะพบไข้เลือดออกเยอะขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมามีการระบาดลดลง ปีนี้จึงต้องเฝ้าระวังเข้มข้น ซึ่งการป้องกันควบคุมโรคทั้งไข้เลือดออกและโควิด ขออธิบายว่าทั้ง 2 โรคมีความแตกต่างกัน โดยไข้เลือดออกจะมีลักษณะไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดถึงกระดูก เบื่ออาหาร บางรายมีจุดเลือดออก หรือเลือดออกง่าย

ส่วนอาการโควิด ส่วนใหญ่มีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ส่วนความเสี่ยงของ 2 โรคมีความแตกต่างกัน โดยไข้เลือดออกเกิดจากยุงลาย ขณะที่โควิดเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ไอจามรดกัน กรณีมีข้อกังวลว่าหากป่วย 2 โรคพร้อมกันจะอาการรุนแรงหรือไม่นั้น ข้อมูลที่มีการรวบรวมยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะทำให้รุนแรงขึ้นหรือไม่ ยังต้องเก็บข้อมูลต่อไป แต่มีความเป็นไปได้ว่าหากติดเชื้อทั้ง 2 อย่างก็เสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ผู้สูงอายุ จึงต้องระมัดระวัง ไม่ประมาท

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ