‘ดร.ยุ้ย’ ดันโยบาย สร้างโอกาสคนอายุยืนประกอบอาชีพ เสริมศักยภาพความชำนาญร่วมพัฒนากทม.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เปลี่ยนวิธีคิด ยกผู้สูงอายุบุคคลมีคุณค่า ไม่เป็นภาระใคร
วันที่ 2 ก.พ.65 ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ (ดร.ยุ้ย) คณะทำงาน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องชาว กทม.พบว่าผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี) เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์ในชีวิตด้านต่าง ๆมายาวนาน จึงสามารถที่จะนำมาเป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ได้รับโอกาส ดังนั้น อยากสะท้อนให้ทุกคนปรับมุมมองและวิธีคิด ว่าจากที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ควรมองเป็นสังคมคนอายุยืน มากกว่า ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนนโยบายในการบริหาร กทม.ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางขับเคลื่อนต่อยอดพัฒนาอาชีพงานที่เหมาะสมกับกลุ่มคนอายุยืนให้เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมองการเชื่อมโยงไปถึงปัญหาของคนไร้บ้านที่ต้องการจะแก้ เพราะคนไร้บ้านส่วนหนึ่งก็คือ กลุ่มคนอายุยืน ที่ถูกความเหลื่อมล้ำซ้ำเติม ซึ่งไม่เพียงแค่ร่างกายที่ถดถอยจากปัญหาของสุขภาพและการที่จะมีพื้นที่ให้โอกาสทำงานเพื่อต่อยอดให้ชีวิตก็นับว่ายาก จึงกลายเป็นสาเหตุ “คนไร้บ้าน”ดังนั้น การแก้ปัญหาจะต้องทำคู่ขนานกันไปจึงจะแก้ได้ทั้งระบบ โดย กทม.ก็จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้กลุ่มอายุยืนเหล่านี้ได้มีอาชีพ ที่สามารถสร้างความสุข และดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของสังคมอีกทั้งยังเป็นกำลังเสริมในการสร้างเศรษฐกิจในอนาคตภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่
ทั้งนี้ ดร.ชัชชาติ มีแนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมการออกแบบนโยบายเมืองในแต่ละเขต จำนวน 50 เขต ซึ่งมีกลุ่มคนอายุยืน ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง ที่จะสามารถใช้ทักษะความรู้ในด้านต่าง ๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดนโยบายให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยมี กทม. เป็นตัวกลางช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้มีพื้นที่ในการเปิดโอกาสแสดงความคิดเห็น บนพื้นฐาน 5 ส. สำหรับกลุ่มคนอายุยืนที่ได้วางแนวทางไว้ คือ 1.สุขภาพ การมีศูนย์สุขภาพใกล้บ้าน 2.สะดวก ปรับทางเท้า-ระบบขนส่งให้เหมาะสม 3.สังคม เพิ่มชมรมผู้สูงอายุ 4.สร้างงาน ให้โอกาสทำงานที่ถนัด 5.สวัสดิภาพ เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาด
“สิ่งสำคัญของกลุ่มคนอายุยืนเหล่านี้คือ ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นภาระ เพราะพวกเขายังสามารถทำงานได้อยู่ เพียงแต่ปัจจุบันไม่ได้รับโอกาส ซึ่งจากการลงพื้นที่ กทม. พบว่าผู้สูงอายุล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในแต่ละด้าน เพียงแค่พละกำลังอาจจะถดถอยไม่แหมือนครั้งในอดีต แต่ยังมีความชำนาญและชั้นเชิงที่สามารถนำมาต่อยอดในการสร้างเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้น กทม. จึงต้องเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับกลุ่มคนอายุยืนแต่ละคน ซึ่งไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ สังคมคนอายุยืน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าไม่ไร้ประโยชน์ และเพิ่มความสุขมีจุดมุ่งหมาย และส่งผลให้อายุยืนได้อีกด้วย” ดร.ยุ้ยกล่าว
นอกจากนี้ล่าสุดได้ มีการจัดตั้ง “สภากาแฟ เพื่อนชัชชาติ” เพื่อเปิดพื้นที่ชวนประชาชน ‘คุย’ ปัญหาเมือง ‘คิด’ หาทางออก และลงมือ ‘ทำ’ แก้ปัญหาได้ทันที เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ดังนั้น เมื่อภาคประชาชนได้รับการสนับสนุน จะส่งผลให้ชุมชนแข็งแรงและเมืองก็แข็งแรงตามไปด้วยโดยตั้งเป้าขยายเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต กทม.