ดราม่าหมอจบใหม่ “ทนไม่ไหวก็ลาออกไป” แค่ครึ่งปี 66 ลาออกไปแล้ว 900 คน เซ่นระบบแย่ งานหนักเกิน
เรียกว่าเป็นกระแสที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง หลังมีดราม่า หมอจบใหม่ลาออกเยอะ อย่างปีนี้มีชื่อหมอจบใหม่ 2,700 คน แต่ลาออกไปแล้ว 900 คน
อย่างกรณีล่าสุดของ หมอปุยเมฆหรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล Intern และแพทย์พี่เลี้ยงออร์โธปิดิกส์ ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ทวิตข้อความเล่า 1 ปีการทำงาน เหนื่อย ท้อ บางวันแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ งานหนักเหมือนแรงงานทาส กระทั่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่อยากทนอีกต่อไป จึงยื่นใบลาออก
เหตุผลสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น ชั่วโมงการทำงาน ที่หมอจบใหม่ต้องรับ ยิ่งชั่วโมงงานเยอะ ระบบงานและปริมาณงานที่ต้องเจอ ต้องทำก็เยอะตาม แม้ แพทยสภา มีการประกาศปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้เอื้อต่อหมอจบใหม่ แต่ในทางปฎิบัติก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
จากหลายๆ เหตุการณ์ ด้วยปรากฎว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้กำกับของสถานพยาบาลของรัฐ มีภาระงานหนักทำให้มีเวลาผักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานพยาบาลภาครัฐ จัดอัตรากำลังและระบบการทำงานของแพทย์ให้สอดคล้องเหมาะสม ดังนี้
สำหรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (หมอจบใหม่)
1. ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์
2. ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน
3. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป
ทั้งนี้ ทางแพทยสภาจะมีการให้คำปรึกษา รวมทั้งติดตามการนำแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติการเป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษาในโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะของแพทยสภาต่อไป
นอกจากนี้ กรณีแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ
ลงนามท้ายประกาศ
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์
นายกแพทยสภา
แต่หลังจากมีประกาศดังกล่าวออกไป มีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนตั้งคำถามว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้แก่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่ไม่มีการกำหนดให้กับแพทย์ใช้ทุนปีอื่นๆ ด้วย จะแก้ปัญหาภาระงานแพทย์ได้อย่างครอบคลุมได้อย่างไร
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว ไว้ว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์อินเทิร์น 1 เนื่องจากเป็น หมอน้องใหม่ ที่เพิ่งจบมาและต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานจริงเป็นเวลา 1 ปี โดยจะไปปฏิบัติงานกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เพราะน้องๆ ที่จบมาเมื่อได้ทฤษฎีแล้ว การปฏิบัติจริงต้องมีด้วย ตรงนี้จะเป็นปีแรก ซึ่งแพทยสภา ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลโรงพยาบาลที่รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั่วประเทศ
และการที่แพทยสภาออกประกาศกรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะดังกล่าว เพราะว่าในอดีตเราพบว่า น้องๆ หมอจบใหม่ประสบปัญหาการปรับตัวเมื่อไปทำงานปีแรก ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือแม้กระทั่งเครียดจนทำร้ายตัวเอง ซึ่งหากเราแก้ปัญหาที่เริ่มแรกจากน้องๆ หมอจบใหม่ ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมาได้
แม้จะมีประกาศกำหนดชั่วโมงการทำงานให้หมอน้องใหม่มาแล้วข้างต้นนั้น ปัจจุบันก็ยังพบปัญหาหมอน้องใหม่ลาออกกันเยอะอยู่ดี อย่างปี 2566 นี้ หมอน้องใหม่จบมา 2,700 คน แต่ลาออกไปแล้ว 900 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก แพทยสภา ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน จำแนกดังนี้
– แพทย์ที่ยังสามารถติดต่อได้ จำนวน 66,685 คน
– แพทย์ ตามที่อยู่ใน กทม. จำนวน 32,198 คน
– แพทย์ ตามที่อยู่ในต่างจังหวัด จำนวน 34,487
– แพทย์ที่อยู่ต่างประเทศ จำนวน 434 คน
– แพทย์ที่ขาดการติดต่อ จำนวน 1,606 คน
– แพทย์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จำนวน 22 คน