ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้วเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.)
โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) บริษัทที่บริหารงานโรงไฟฟ้าแห่งนี้ แถลงเมื่อวเลา 13.03 น. ของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าเวลาไทย 2 ชั่วโมง ว่าตั้งแต่เริ่มปล่อยน้ำลงทะเลยังไม่พบความผิดปกติใดๆ กับเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์อื่นๆ
เทปโก เผยต่อไปวว่า ในเบื้องต้นจะปล่อยน้ำปริมาตรไม่มากก่อนอย่างระมัดระวัง โดยล็อตแรกจะอยู่ที่ราว 7,800 ลูกบาศก์เมตร (7.8 ล้านลิตร) แบ่งเป็นไม่เกิน 500,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 17 วัน
แต่การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันภาพรังสีทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลา 30-40 ปี และถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ขององค์การสหประชาชาติ
ขณะเดียวกัน การตัดสินใจดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ จีน และเกาหลีใต้ ที่กังวลว่าอาจทำลายอุตสาหกรรมประมงของประเทศตัวเองไปด้วย
น้ำที่ปล่อยออกมานั้นเป็นน้ำที่ใช้ลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ละลายลงหลังจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกคลื่นสึนามิซัดเมื่อเดือน มี.ค. 2554 แต่เทปโกเผยว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่นั้นกรองทริเทียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสี ออกไปไม่ได้ เพราะปล่อยรังสีออกมาอ่อนมาก และอ้างว่าสารดังกล่าวจะไม่สะสมในร่างกายมนุษย์
ถึงอย่างนั้น หลายฝ่ายกลับกังวลว่าการที่ไม่มีข้อมูลมากพอนั้นชี้ชัดไม่ได้ว่าทริเทียมจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล แต่เทปโกเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่าทริเทียมที่ปล่อยออกมาจะมีความเข้มข้นที่เพียง 190 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตรมาก