ซีอีโอไทยลีก สนใจปรับทดเวลาบาดเจ็บตามหยุดจริงอิงบอลโลกกาตาร์

Home » ซีอีโอไทยลีก สนใจปรับทดเวลาบาดเจ็บตามหยุดจริงอิงบอลโลกกาตาร์



ซีซีโอไทยลีก นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ยกเคสการทดเวลาหลายนาทีของฟุตบอลโลก 2022 เป็นเรื่องที่น่าสนใจหากมาปรับใช้ใน ไทยลีก แต่อาจติดขัดเรื่องเวลาถ่ายทอด

ซีซีโอไทยลีก นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด ซึ่งเข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ยอมรับสนใจในการหันมาใช้วิธีการทดเวลาบาดเจ็บตามเวลาที่หยุดจริง แบบเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในบอลโลก รอบสุดท้าย ที่บางนัดทดเวลาการแข่งขันร่วม 10 นาที

ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ นอกจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการจับล้ำหน้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แฟนบอลพูดถึงคือการทดเวลาที่นานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา 2 วันแรกของการแข่งขันมีทั้งหมด 4 คู่ ปรากฏว่าทดเวลาเกิน 10 นาทีทั้ง 4 คู่ โดยคู่ที่มีการทดเวลามากที่สุดคือ อังกฤษ พบ อิหร่าน รวมทดเวลาเพิ่มมากถึง 27.16 นาที

  • เลวานดอฟสกี รับสุดผิดหวังหลังโปแลนด์เจ๊าเม็กซิโก ประเดิมฟุตบอลโลก

เรื่องนี้ ปิแอร์ลุยจิ คอลลินา ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสิน ประจำสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และมีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (ไอเอฟเอบี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกฎและข้อบังคับของวงการลูกหนัง เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ฟีฟ่าต้องการทดเวลาตามเวลาที่หยุดไปจริงๆ เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเหมาะสม 90 นาที เพราะที่ผ่านมามีการเสียเวลาไปกับการเปลี่ยนตัว ทุ่มบอล เตะจากปากประตู หรือแม้แต่การถ่วงเวลา ซึ่งความพยายามของฟีฟ่า คือต้องการให้เวลาที่สูญเสียไปเที่ยงตรงและแม่นยำที่สุด

ฟุตบอลโลกครั้งนี้มีตัวแทนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เข้าชมเกมในสนามด้วย คือนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ไทยลีก จำกัด ได้พูดถึงประเด็นการทดเวลาหลายนาทีว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการแข่งขัน ไทยลีก มีการหยุดเกมบ่อยครั้งมาก

“คู่ของอังกฤษ กับ อิหร่าน ที่ทดเวลา 14 นาทีในครึ่งแรกเป็นเพราะมีการปฐมพยายามผู้รักษาประตูอิหร่าน แต่หากเป็นเมื่อก่อนคงไม่ทดเวลานานขนาดนี้ แต่เพราะฟีฟ่า อยากให้การทดเวลาเป็นเวลาที่หยุดไปจริงๆ ซึ่งไทยลีก พร้อมนำมาปรับใช้ตามกฎของ IFAB องค์กรที่ดูแลกติกาฟุตบอล” กรวีร์ เผย

“อย่างไรก็ตามฟุตบอล ไทยลีก แบ่งออกเป็น บ.ไทยลีก จำกัด มีหน้าที่จัดการแข่งขัน ส่วนผู้ตัดสินจะมีคณะกรรมการผู้ตัดสินแยกออกไปต่างหาก ซึ่งคณะกรรมการผู้ตัดสินจะอัพเดตกติกากับทาง IFAB ตลอด ฉะนั้นหากมีการเวิร์กช็อปหรือพูดคุยกันในคณะกรรมการผู้ตัดสินสามารถทำได้เพื่อให้การทดเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่เสียไปจริงๆ ซึ่งคงเป็นเรื่องดีสำหรับแฟนบอลและการแข่งขัน”

“อีกหนึ่งเรื่องที่ฟีฟ่า ค่อนข้างให้ความสำคัญคือการใช้เทคโนโลยีวีดิโอช่วยตัดสิน (VAR) ที่พยายามใช้เวลาให้น้อยที่สุด ฉะนั้นเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญมาก แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง”

สำหรับฟุตบอล ไทยลีก ที่ผ่านมามักหยุดเกมค่อนข้างบ่อยด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่กลับมีการทดเวลาน้อยกว่าเวลาที่หยุดไปจริงๆ ซึ่งหากมีการทดเวลาตามเวลาที่หยุดไปจริงๆ จะทำให้แฟนบอลได้ชมเกมตามเวลาที่กติการะบุไว้ 90 นาทีหรือใกล้เคียงมากที่สุด แต่ปัญหาคืออาจส่งผลกระทบต่อการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี ที่มีการจำกัดเวลา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ