ซีพีเอฟ จับมือ 3 ม.ดังและโรงงานผลิตปลาป่น แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ

Home » ซีพีเอฟ จับมือ 3 ม.ดังและโรงงานผลิตปลาป่น แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ

รับซื้อปลาหมอคางดำกก.ละ15

นายประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ประกาศความร่วมมือกับมอชั้นนำ และโรงงานผลิตปลาป่น แก้ไขสถานการณ์ ปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

เมื่อวานนี้ 23 กรกฎาคม 2567 นายประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ประกาศความร่วมมือกับคณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำ

นายประสิทธิ์ เผยว่า เราตระหนักดีว่าขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้คือ การร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วนในฐานะภาคเอกชน บริษัทสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 5 โครงการ ร่วมแก้ไขปัญหานี้ของภาครัฐตามศักยภาพของบริษัท ต้องขอบคุณ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

“บริษัทพร้อมนำศักยภาพขององค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ”

ปลาหมอคางดำ
  • เอเลี่ยนสปีชีส์ ไข่หมอคางดำ ตากแห้งหลายอาทิตย์ โดนน้ำกลับฟักตัวได้
  • ระวัง! ปล่อย ‘กะพงขาว’ ล่า ‘ปลาหมอคางดำ’ มันจะยิ่งทำลายระบบนิเวศน์
  • CPF มั่นใจไม่ใช่ต้นตอ ปลาหมอคางดำ พร้อมช่วยรัฐแก้ปัญหาทุกด้าน

โครงการที่ 1: ทำงานร่วมกับกรมประมง สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด

โครงการที่ 2: ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำจำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมาบริษัทส่งมอบปลากะพงขาวจำนวน 45,000 ตัวให้กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี 

โครงการที่ 3: ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชน และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด

โครงการที่ 4: การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 

ที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ 

โครงการที่ 5: ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ