ไม่ต้องบินอ้อม! ซาอุฯ ไฟเขียว เครื่องบินกองทัพอากาศ ผ่านน่านฟ้า อพยพ แรงงานไทย ออกจาก อิสราเอลแล้ว ใช้เวลาใหม่ 8 ชั่วโมงครึ่ง
รัฐบาลได้แจ้งข่าวดีกับ กองทัพอากาศว่า ในภารกิจการอพยพ แรงงานไทยกลับจากประเทศ อิสราเอลของ กองทัพอากาศ ตั้งแต่วันนี้ (21 ต.ค.) เป็นต้นไป
กองทัพอากาศไม่ต้องนำเครื่องบินทหารบิน โดยเฉพาะเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และเครื่องบินลำเลียง C-130 ทำการบินอ้อมประเทศแล้ว ซึ่งจากเดิมใน 2 เที่ยวบินแรกที่กองทัพอากาศบินไปอพยพ แรงงานไทยใน อิสราเอลนั้น จะต้องบินผ่านน่านฟ้า 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์มิเนีย ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล
แต่ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้เจรจาขอบินผ่านน่านฟ้าในเส้นทางการบินใหม่ โดยจะผ่านเพียง 7 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา อินเดีย โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และ อิสราเอล ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียน กรุงเทลอาวีฟ โดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง จากเดิมที่ต้องบินอ้อมใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมงเศษ
โดยจะเริ่มทำการบินได้ในเที่ยวบินที่ 3 ที่กองทัพอากาศส่ง เครื่องบินแอร์บัส A 340-500 ในวันที่ 21 ต.ค. นี้ เวลา 13.30 น. คาดว่าจะมี แรงงานไทยเดินทางกลับเที่ยวบินที่ 3 นี้จำนวน 140 คน ซึ่งจะเดินทางกลับมาถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กทม. วันที่ 22 ต.ค. เวลา 10.50 น.