ซัลมัน รัชดี นักเขียนชื่อดัง ถูกแทงในนิวยอร์ก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ-พูดไม่ได้
วันที่ 13 ส.ค. บีบีซี รายงานความคืบหน้ากรณีที่ ซัลมัน รัชดี นักเขียนสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ เชื้อสายอินเดีย ที่ถูกมือมีดแทงอย่างอุกอาจขณะให้สัมภาษณ์บนเวทีเสวนา ที่สถาบันชาโตกัว ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น
ล่าสุด นายแอนดรูว์ ไวลี ตัวแทนของนายรัชดีแจ้งข่าวที่ไม่ดีว่า ระบุในแถลงการณ์ว่า นักเขียนผู้นี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและไม่สามารถพูดได้ และเสริมว่า นายรัชดีอาจสูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง เส้นประสาทที่แขนถูกตัดขาด และตับถูกแทงและเสียหาย
ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย คือ นายฮาดี มาตาร์ อายุ 24 ปี จากเมืองแฟร์วิว รัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่ยังไม่ได้ระบุแรงจูงใจหรือตั้งข้อหา ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอหมายค้นเพื่อตรวจสอบกระเป๋าสะพายหลังและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตำรวจพบที่จุดเกิด
ตำรวจระบุว่า ผู้ต้องสงสัยวิ่งขึ้นไปบนเวทีและทำร้ายนายรัชดี และพิธีกรผู้สัมภาษณ์ นายรัชดีถูกแทงอย่างน้อย 1 ครั้ง ในลำคอและช่องท้อง นายรัชดีถูกนำส่งไปโรงพยาบาลในเมืองอีรี รัฐเพนซิลเวเนีย ด้วยเฮลิคอปเตอร์ ส่วนพิธีกรผู้สัมภาษณ์คือ นายเฮนรี รีส ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้บริการที่พักพิงแก่นักเขียนพลัดถิ่นภายใต้การคุกคามของการประหัตประหาร ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ศีรษะ ถูกนำส่งไปโรงพยาบาลในพื้นที่
ตำรวจระบุว่า พนักงานและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาวิ่งขึ้นไปบนเวทีเพื่อรวบตัวผู้ก่อเหตุและจับกดลงกับพื้นก่อนตำรวจมาจับกุม และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งสอง และว่าแพทย์คนหนึ่งที่เข้าร่วมฟังเสวนาให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่นายรัชดี เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏในวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์
นายรัชดีมีชื่อเสียงโด่งดังจากนวนิยาย ทารกเที่ยงคืน ในปี 2524 ซึ่งขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มในสหราชอาณาจักรเพียงประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มที่สี่ของนายรัชดีในชื่อ โองการปีศาจ (The Satanic Verses) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2531 ทำให้นักประพันธ์ผู้นี้ต้องหลบซ่อนตัวเป็นเวลาเกือบสิบปีจากคำขู่ฆ่าของมุสลิมหัวรุนแรง
หลังนวนิยายแนวเซอร์เรียลลิสต์หลังสมัยใหม่เล่มนี้สร้างวามไม่พอใจในหมู่มุสลิมบางคน ซึ่งถือว่า เนื้อหาดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นศาสนา และถูกห้ามจำหน่ายในบางประเทศ ตามมาด้วยเหตุจลาจลต่อต้านนายรัชดีในอินเดียที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสถานทูตอังกฤษประจำกรุงเตหะรานถูกขว้างปาก้อนหินใส่
1 ปีหลังนวนิยายเล่มนี้เผยแพร่ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เรียกร้องการประหารชีวิตนายรัชดี โดยเสนอรางวัลเป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 253,194 ล้านบาท ในค่าเงินปัจจุบัน) ตามฟัตวา กฤษฎีกาทางกฎหมายที่ผู้นำศาสนาอิสลามเป็นคนออก
ค่าหัวของนายรัชดียังมีผลถึงวันนี้ และแม้ว่ารัฐบาลอิหร่านจะเมินเฉยคำสั่งของโคมัยนีมาตลอด แต่ในปี 2555 มูลนิธิศาสนากึ่งทางการแห่งหนึ่งของอิหร่านยังเพิ่มค่าหัวอีก 500,000 ดอลลาร์ (ราว 22 ล้านบาทในค่าเงินปัจจุบัน)
ต่อมา เมื่อปี 2534 นักแปลชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่แปลนวนิยายเล่มนี้ถูกแทงเสียชีวิต ขณะเดียวกัน ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น นักแปลชาวอิตาลีคนหนึ่งถูกแทงเช่นกัน และนายวิลเลียม นีโกร์ด ผู้ตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้ฉบับภาษานอร์เวย์ ถูกยิง แต่ทั้งคู่รอดชีวิต
นายนีโกร์ดกล่าวหลังเหตุการณ์ที่นายรัชดีถูกแทงว่า นายรัชดีเป็นนักประพันธ์ชั้นนำที่มีความหมายอย่างมากต่อวรรณกรรมซึ่งทุ่มเทอย่างมากกับผลงานของเขา
นอกจากนี้ เมื่อปี 2550 เกิดการประท้วงในอิหร่านและปากีสถาน หลังนายรัชดีได้รับพระราชทานตำแหน่งอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง และรัฐมนตรีคนหนึ่งในปากีสถานถึงกับเอ่ยปากว่า การถวายเกียรติยศดังกล่าวสมควรถูกโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย
แม้ว่าการจัดงานวรรณกรรมหลายครั้งที่นายรัชดีเข้าร่วมจะถูกข่มขู่และคว่ำบาตร แต่นายรัชดียังเขียนนวนิยายต่อไป และผลงานต่อไปคือ Victory City ซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์ในเดือนก.พ. 2566
ทั้งนี้ นายรัชดี พลเมืองสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ เกิดมาในครอบครัวมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดศาสนาในอินเดีย และประกาศตัวเป็นผู้ไม่มีศาสนา และกลายเป็นแกนนำผู้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยปกป้องผลงานของเขาหลายครั้ง