กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานเรื่อง Fostering Foundational Skills in Thailand ซึ่งทำการสำรวจ “ทักษะทุนชีวิต” (Foundational Skills) ของเยาวชนและแรงงานไทยเป็นครั้งแรก โดยทำการสำรวจ 3 ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ 1.ทักษะการรู้หนังสือการอ่าน 2.ทักษะด้านทุนดิจิทุล และ 3.ทักษาะทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคม
ผลสำรวจประชากร ช่วงอายุ 15 – 64 ปี จำนวน 7,300 คนจากทั่วประเทศทุกภูมิภาค พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทักษะทุนชีวิต โดยเยาวชนและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีทักษะทุนชีวิตที่ “ต่ำกว่าเกณฑ์” กล่าวคือพวกเขาไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้ ไม่สามารถใช้งานเครื่องมือดิจิทัลแบบง่ายๆ ได้ เช่นเดียวกับไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มทางสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น
เกือบ 2 ใน 3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทย หรือ 64.7% มีทักษะด้านการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าพวกเขาไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น การอ่านและทำตามฉลากยา เป็นต้น
ผลสำรวจ 3 ใน 4 หรือ 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าพวกเขาไม่สามารถใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (เมาส์) และแป้นพิมพ์ (คีย์บอร์ด) บนคอมพิวเตอร์พกพา เพื่อใช้ทำงานง่ายๆ ได้ เช่น การหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าบนเว็บไซต์ซื้อขายของออนไลน์ เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น 30.3% ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในไทย มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือพวกเขาไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนในการริเริ่มทางสังคม หรือมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และมีจินตนาการ
วิกฤตทักษะทุนชีวิตที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) หายไปประมาณ 20.1% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 2022 กล่าวคือเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ “มีรายได้น้อย” กว่ากลุ่มคนที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ หรือมีรายได้แตกต่างมากถึง 6,324 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่เยอะมาก
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าประเทศไทยมีเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 5 หรือ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เนื่องจากขาดทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ซึ่งหมายถึงพวกเขาเหล่านั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเสนอ 5 ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะทางการศึกษาสำหรับการเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต ดังต่อไปนี้
- ปรับปรุงคำแนะนำเชิงกลยุทธ์สำหรับนักการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจและตอบสนองต่อวิกฤตทักษะทุนชีวิต
- เพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมเรื่องการส่งมอบการเรียนรู้แบบกระจายอำนาจ
- ปรับใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงการเรียนการสอน
- เสริมสร้างการประกันคุณภาพ
- ใช้ประโยชน์จากพลังของแคมเปญการให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ