ช็อกอิหร่านประหารผู้ชุมนุม นักสิทธิจี้ประชาคมโลกตอบโต้เฉียบขาด
ช็อกอิหร่านประหารผู้ชุมนุม – วันที่ 8 ธ.ค. บีบีซีรายงานว่า ทางการอิหร่านแขวนคอผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลรายแรก และอาจเตรียมเดินหน้าประหารชีวิตผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมต่อไปอีก ขณะที่เหล่านักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ประชาคมโลกตอบโต้ทางการอิหร่านอย่างเฉียบขาด
ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลรายแรกที่ถูกทางการอิหร่านลงโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอไปแล้ว ทราบชื่อภายหลังว่า นายโมห์เซน ชีคารี ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหา “ตั้งตนเป็นศัตรูกับพระผู้เป็นเจ้า”
นายชีคารี ยังถูกทางการอิหร่านกล่าวหาด้วยว่า เป็นผู้ชุมนุมที่ก่อจลาจลปิดถนนเส้นทางหลักในกรุงเตหะรานเมื่อเดือนก.ย. และใช้อาวุธมีดเล่มใหญ่ทำร้ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 นาย โดยนักสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นายชีคารี ถูกนำตัวมาขึ้นศาลและถูกพิพากษาทันทีโดยปราศจากขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม
นายมาห์มูด อะมีรี-มอกัดดัม ผู้อำนวยการองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศนอร์เวย์ ทวีตว่า ทางการอิหร่านจะเดินหน้าประหารชีวิตผู้ชุมนุมต่อไปแบบรายวันหากนานาชาติไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ ที่รุนแรงและเป็นรูปธรรม
มิซาน สถานีโทรทัศน์ของศาลปฏิวัติอิหร่าน ระบุว่า นายชีคารี มีความผิดเนื่องจากชักอาวุธมีดออกมาโดยมีเจตนาต้องการสังหาร สร้างความหวาดกลัว และยุยงปลุกปั่นสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงถือว่าตั้งตนเป็นศัตรูกับพระผู้เป็นเจ้า
ด้านนายชีคารียื่นอุทธรณ์ต่อศาสอุทธรณ์แต่ศาลไม่รับอุทธรณ์จึงมีผลให้ยืนคำพิพากษาชั้นต้น เมื่อ 20 พ.ย. นอกจากนี้ มีผู้ชุมนุมอีก 10 คน ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดแบบเดียวกันกับนายชีคารีด้วย แต่ทางการอิหร่านยังไม่เปิดเผยชื่อ
องค์กรนิรโทษกรรมสากลหรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุถึงการประหารชีวิตผู้ชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นว่า มีจุดประสงค์เพื่อข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวให้กับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
แอมเนสตี้ ระบุอีกว่า ศาลศาลปฏิวัติอิหร่านนั้นทำหน้าที่ร่วมกันกับหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยข่าวกรอง มักใช้การพิพากษาลงโทษสถานหนักและมีกระบวนการไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเนื่องจากขั้นตอนแทบทั้งหมดนั้นถูกเก็บเป็นความลับ
ทั้งนี้ การประท้วงต่อต้านรัฐบาลและสถาบันทางศาสนาในอิหร่านปะทุขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนก.ย. มีชนวนมาจากกรณีการเสียชีวิตของนางสาวมาห์ซา อะมีนี อายุ 23 ปี ระหว่างอยู่ภายใต้การจับกุมของตำรวจศาสนา ในข้อหาสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะไม่ถูกต้องตามข้อบังคับจริยธรรม
การประท้วงที่เกิดขึ้นลุกลามไปใน 160 เมือง และ 31 จังหวัดทั่วประเทศอิหร่าน กลายเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งรุนแรงที่สุดของชาวอิหร่านนับตั้งแต่การปฏิวัติศาสนาเมื่อปี 2522 โดยมีแกนนำหลักเป็นผู้หญิง รวมถึงนักเรียนและนักศึกษา
ขณะที่ทางการอิหร่าน กล่าวหาว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการก่อจลาจลที่มีต้นเหตุมาจากความพยายามแทรกแซงกิจการภายในโดยสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก พร้อมย้ำว่าจะจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบขาด
สำนักข่าวนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน (HRANA) ระบุว่า ผลของการปราบปรามจากทางการอิหร่านทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 61 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 475 ราย และถูกจับกุมอย่างน้อย 18,240 คน