ชู ‘แพร่-น่าน’ โมเดล ปลูกไผ่ สร้างรายได้เกษตรกร ส.การค้าอาเซียน-จีน หนุนเศรษฐกิจ Green Industy ผ่านการสนับสนุนจากสถาบันไม้ไผ่นานาชาติจีน เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาค
นายวิจิตร หยาง นายกสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน กล่าวว่า มีแนวคิดในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ โดยการสนับสนุนด้านการค้าการลงทุนและงานวิจัยจากสถาบันไม้ไผ่นานาชาติจีน เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาคเพื่อลดปัญหาโลกร้อนจาก Green house effect สร้างป่าไผ่เพื่อเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม สร้างระบบนิเวศที่ดี และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
หลังจากที่ สมาคมฯ ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการนำผู้ประกอบการ นักลงทุนจากไทย-จีน แลกเปลี่ยนตามเส้นทาง one belt one road คุนหมิง-กรุงเทพ มีการพาผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบนกลุ่ม 2 ไปเยือนนครคุณหมิง เรียนรู้การลงทุนและการการค้าระหว่างภาคเหนือกับนครคุนหมิง
อีกทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือกับสถาบันไม้ไผ่นานาชาติจีน International Bamboo and Rattan INBAR ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ในประเทศไทย และนำคณะนักธุรกิจจีน มาเยือน 4 จังหวัดภาคเหนือเมื่อปี 2558 แลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดมา สร้างแรงจูงใจให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุน อุตสาหกรรมไม้ไผ่ในประเทศไทย
ทาง สมาคมฯ มีความคาดหวังให้ จังหวัด แพร่ และน่าน เป็นโมเดลพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ ก่อนขยายสู่จังหวัดอื่นทางภาคเหนือต่อไปในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐ ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าต่อไป ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจาก World Bank และถ่ายทอดเทคโนโลยี Know How จากจีน
ทั้งนี้ ตามกำหนดการในช่วงปลายปี 2566 จังหวัดน่าน จะร่วมกับ INBAR จัดงานประชุมไผ่โลก และงาน Bamboo Expo มีการระดมนักวิจัย นักลงทุน จากสาธารณรัฐ ประชาชนจีน และนานาชาติ ร่วมเสริมสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศของประชาชนในภูมิภาคต่อไป
ด้าน รศ.ดร.อภิชาติ อนุกุลอำไพ ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวว่า หลังจากที่ สมาคมฯ ได้เชิญชวนนักลงทุนจีน 5 กลุ่มบริษัท ที่ให้ความสนใจร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ และอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย เข้าร่วมประชุมแล้วพบว่า ประเทศไทยตอนบน 8 จังหวัด มีภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกไผ่ อีกทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ การปลูกไผ่ ช่วยชดเชยป่าที่ถูกทำลาย และยังสามารถส่งเสริมให้เป็นไม้เศรษฐกิจได้
“แต่ประเด็นอยู่ที่ประเทศไทยมีการปลูกไผ่แต่ยังไม่มีการส่งเสริมอย่างเต็มรูปแบบ ตัวอย่าง การปลูกไผ่ 100 กก.เอาไปขายได้ 30% หากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว ขณะเดียวกันต้องหามาตรการสนับสนุนระหว่างรอผลผลิตในช่วง 3 ปี แรกที่ลงทุน รวมถึงหาตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยด้วย”
นายนันทวัฒน์ พรรณสกุลวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวว่า แนวคิดในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ เป็นโครงการที่ดี และมีเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และนำรายได้เข้าประเทศ หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
“จากนี้ไปสมาคมฯ จะจัดตั้งทีมคณะทำงานร่วมกันผลักดันให้หน่วยงาน กรมส่งเสริมการส่งออก รับเรื่องนำโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ไผ่เข้าสู่วาระการพิจารณา เพื่อให้การปลูกไผ่เป็นไม้เศรษฐกิจเช่นเดียวกับข้าวหรือไม้เศรษฐกิจอื่น ๆ”