จากกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศอังกฤษเพื่อรักษาตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 กระทั่งมีข่าวลือในช่วงเดือนมีนาคม ที่่ผ่านมาว่า นายชูวิทย์เสียชีวิต แต่ทางต๊ะ ตระการตา กมลวิศิษฎ์ ลูกสาว ก็ได้ลงภาพคู่กับคุณพ่อเป็นการสยบข่าวลือดังกล่าว บอกว่าคุณพ่อยังไม่ตาย
ล่าสุด (16 มิ.ย.67) เฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นักการเมืองชื่อดัง มีการโพสต์ถึงอาการของนายชูวิทย์ล่าสุด ว่า ได้ไลน์ไปคุยกับนายชูวิทย์ ถามไถ่ถึงอาการจนทราบว่า ตอนนี้รักษาแบบประคับประคอง
ขณะเดียวกัน นายชูวิทย์ก็ถามว่า ตนจะเล่นการเมืองต่อไหม ตนก็ตอบไปว่า ตนวางมือจากวงการแล้ว ซึ่งนายชูวิทย์ก็ตอบกลับว่า ดีแล้ว เพราะการเมืองยุคนี้ใช้เงินเยอะขึ้น ไม่เหมาะกับตน ที่โพสต์มาทั้งหมด เพื่อต้องการให้ทุกคนหายคิดถึงนายชูวิทย์เท่านั้น
การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care คือ การดูแลที่มีมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care สามารถให้การรักษาควบคู่กับการรักษาหลักเช่นการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยก็ยังได้รับการรักษาแบบมาตรฐาน เช่นการรับเคมีบำบัด การรับการรักษาการฉายรังสี โดยไม่ได้ไปจำกัดการรักษาที่ผู้ป่วยควรได้รับ
แต่ในระยะท้ายที่สภาวะร่างกายของผู้ป่วยอาจไม่เหมาะสมกับการรักษาเดิม เช่น การรักษาเคมีบำบัด การรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวโรค เข้าใจการพยากรณ์ของโรค เข้าใจการรักษา และเข้าใจถึงผลประโยชน์ และความเสี่ยงจากการรักษา และช่วยให้ผู้ป่วยตัดสินใจในการรับการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยการดูแลแบบประคับประคองจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ
การดูแลแบบประคับประคอง สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย หรือเมื่อผู้ป่วยและครอบครัวพร้อมที่จะเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง โดยเมื่อโรคเข้าสู่ระยะลุกลาม อาการของโรคมาก การรักษาแบบประคับประคองจะมีบทบาทมากขึ้น และเมื่อผู้ป่วยจากไปการรักษาแบบประคับประคอง จะดูแลความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตร่วมด้วย การรับการรักษา สามารถแจ้งแพทย์ผู้รักษา เพื่อประสานทีมรักษาการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้การดูแลได้