ไทย ร่วมเสนอ 3 แนวทาง ขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน สร้างปัจจุบันให้เข้มแข็ง – ร่วมแรงสู่อนาคต – เคารพวิถีอาเซียน เพื่อประชาคมที่เข้มแข็งและก้าวหน้ายิ่งขึ้น
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 11 พ.ย.2565 ที่โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และร่วมพิธีเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายและหนังสือ Cambodia’s Contribution to ASEAN
จากนั้นเวลา 08.50 น. นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 แบบเต็มคณะ (Plenary) มีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายและทิศทางในอนาคตของประชาคมอาเซียน
นายกฯ กล่าวขอบคุณ และชื่นชมกัมพูชาที่ได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างดีเยี่ยม พร้อมยินดีที่ข้อริเริ่มของกัมพูชาประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการสานต่อความพยายามรับมือ และฟื้นฟูจากโควิด-19 และการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งและก้าวหน้ายิ่งขึ้น ไทยภูมิใจที่เห็นอาเซียนพัฒนาจนกลายเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 5 ของโลก
นายกฯ ได้เสนอ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน เพื่อต่อสู้กับความท้าทายหลายรูปแบบ ประกอบด้วย 1.การสร้างปัจจุบันให้เข้มแข็ง มุ่งดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมระบบสาธารณสุขและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนายกฯ ยินดีที่การจัดตั้งศูนย์แอคฟีด (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) มีความคืบหน้า และไทยในฐานะที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานด้านการตอบสนองและสำนักเลขาธิการของศูนย์แอคฟีด พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อให้การทำงานของศูนย์ฯ มีบูรณาการและรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันควรเร่งส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหุ้นส่วนของเราให้แน่นแฟ้น
ทั้งนี้ ไทยเสนอให้ จ.ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษปี ค.ศ. 2028 ภายใต้แนวคิด “ชีวิตแห่งอนาคต: แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อส่งเสริมพลวัตด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่อาเซียน โดยจะนำเสนอทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม หากได้รับเลือกจะถือเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเกียรติและความไว้วางใจให้จัดงานเอ็กซ์โประหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากประเทศสมาชิกอาเซียน
2.การร่วมแรงสู่อนาคต ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนวาระความยั่งยืนให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน โดยเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ หวังว่าวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 จะสะท้อนเรื่องความยั่งยืนในการทำงานของอาเซียนในอนาคต รวมทั้งคำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบ ทำให้เกิดความท้าทาย และเห็นควรส่งเสริม ต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นความสมดุลและยั่งยืน
3.เคารพวิถีอาเซียน อาเซียนในระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาเป็นประชาคมเช่นทุกวันนี้ เป็นผลจากการทำงานร่วมกันโดยยึดมั่นใน วิถีอาเซียน แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยเห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้ ย่อมต้องเคารพและยึดมั่นในวิถีของอาเซียน โดยไทยพร้อมร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันและองค์กรของอาเซียนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียน เพื่อให้พร้อมรับมือกับอุปสรรคความท้าทายบนพื้นฐานของหลักการและแนวปฏิบัติที่เรามีร่วมกันมา
ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน นายกฯ จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน + จีน และสุดยอดอาเซียน + เกาหลี และสุดยอดอาเซียนกับสหประชาชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยตั้งจุดตรวจตราเข้มตั้งแต่ก่อนเข้าประชุม มีทหารถือปืนยืนประจำการอยู่ด้านทางเข้า-ออกทุกประตู เพื่อดูแลความเรียบร้อย