ชาอู่หลง เป็นชาจีนที่มีการบริโภคมาอย่างยาวนาน ชาอู่หลงแม้จะเป็นชาที่ได้รับความนิยมในการบริโภคน้อย แต่ชาอู่หลงเป็นชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน เช่น มีส่วนช่วยในการเพิ่มการเผาผลาญ ช่วยลดความเครียด Hello คุณหมอ จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ประโยชน์ของชาอู่หลง ชาจีนรสชาติชุ่มคอ แถมมีดีที่กลิ่นหอม
กว่าจะมาเป็น “ชาอู่หลง”
ชาอู่หลง (Oolong Tea) เป็นชาที่ได้ความนิยมในประเทศจีนและไต้หวัน การดื่มชาและการชงชานั้นถือเป็นวัฒนธรรมในแถบเอเชีย ทำให้ผู้คนได้พบปะสังสรรค์กัน แม้ว่าชาแต่ละชนิดจะได้มาจากพืชชนิดเดียวกัน แต่กรรมวิธีในการเก็บเกี่ยว การแปรรูป ทำให้ชาแต่ละชนิดมีความพิเศษที่แตกต่างกัน
ชาอู่หลงเป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วน ซึ่งจะเริ่มจากการนำใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ไปผึ่งแดดนาน 20-40 นาที หลังจากนั้นนำใบชาไปผึ่งต่อในร่ม พร้อมทั้งเขย่าให้ใบชาช้ำ ซึ่งถือเป็นการหมักเพียงบางส่วน
ชาอู่หลงเป็นชาที่มีปริมาณคาเฟอีนใกล้เคียงกับชาเขียวคือ ประมาณ 10 ถึง 60 มิลลิกรัมต่อถ้วย หรือปริมาณ 8 ออนซ์
คุณค่าทางโภชนาการของชาอู่หลง
ชาอู่หลงมีปริมาณวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิด เช่นเดียวกับชาดำและชาเขียว โดยในชาอู่หลงประมาณ 1 ถ้วยจะมีสารอาหาร ดังนี้
- ฟลูออไรด์ 5–24% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- แมงกานีส 26% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- โพแทสเซียม ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- โซเดียม 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- แมกนีเซียม 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- ไนอาซิน 1% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- คาเฟอีน 36 มิลลิกรัม
นอกจากสารอาหารเหล่านี้ชาอู่หลงยังมีสารต้านอนุมูลอิสระหรือที่เรียกว่าโพลีฟีนอล (Polyphenols) เช่น ทีฟลาวิน (Theaflavin) ทีรูบิจิน (Thearubigins) และสาร EGCG (Epigallocatechin gallate) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกหนึ่งชนิดที่พบในชาเขียวเช่นกัน สารเหล่านี้ล้วนเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น
ประโยชน์ของชาอู่หลง ที่คนรักสุขภาพต้องลอง
ชาอู่หลงนอกจากจะเป็นชาที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ให้ความชุ่มคอแล้ว ชาอู่หลงยังเป็นชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคเบาหวาน ดีต่อสุขภาพกระดูก และมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก ที่สำคัญชาอู่หลงเป็นชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้
-
สุขภาพหัวใจ
มีการศึกษาแล้วว่า ชาอู่หลงเป็นชาที่มีความเกี่ยวข้องในการลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งระดับคอเลสเตอรอลที่สูงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ที่สำคัญมีการพิสูจน์แล้วว่าชาอู่หลง มีส่วนในการปกป้องหัวใจ
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ดื่มชาอู่หลงอย่างน้อย 10 ออนซ์ต่อสัปดาห์ มีระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล LDL หรือคอเลสเตอรอลที่ “ ไม่ดี” ลดลง
-
ลดน้ำหนัก
จากการศึกษาในหนูทดลอง ที่ได้รับอาหารที่มีปริมาณไขมันและมีน้ำตาลสูง พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากชาอู่หลงมีปริมาณไขมันในช่องท้องน้อยกว่า หนูที่ไม่ได้รับสารสกัดจากชา ส่วนหนูที่ได้รับสารสกัดจากชาเขียว นอกจากจะช่วยลดปริมาณไขมันแล้วยังบริโภคปริมาณแคลอรี่ที่น้อยลงด้วย
นอกจากนี้ ในการศึกษาผู้ใหญ่ชาวจีนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน พบว่าผู้ที่มีการบริโภคชาอู่หลง 300 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง หลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมมากกว่าครึ่งน้ำหนักลดลงมากกว่า 1 กิโลกรัม
-
ป้องกันมะเร็ง
การดื่มชาอู่หลง มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ 4% แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญ ส่วนการดื่มชาเขียวหนึ่งถ้วยต่อวันนั้นช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ 6% อย่างมีนัยสำคัญ
จากการศึกษาในผู้หญิงชาวจีน พบว่าการดื่มชาเขียว ชาดำหรือชาอู่หลง มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังมีงานวิจัยที่ไม่เพียงพอที่จะบอกว่าการดื่มชาช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้
-
กระตุ้นการทำงานของสมอง
ส่วนประกอบหลาย ๆ อย่างที่มีอยู่ในชานั้นมีประโยชน์ต่อการทำงานของสมอง มีส่วนช่วยรักษาการทำงานของสมองและป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารธีอะนีน (Theanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในชา อาจช่วยเพิ่มการทำงานของสมองและคลายความวิตกกังวลได้
-
ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
ชาอู่หลงยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยฟลูออไรด์ซึ่งสามารถช่วยให้เคลือบฟันให้แข็งแรงได้ นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในชาอู่หลงมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟันได้
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ดื่มชาดำ ชาเขียวหรือชาอู่หลงทุกวันในช่วง 10 ปี ทำให้มีความหนาแน่นของกระดูกโดยรวมสูงขึ้น 2% ซึ่งความหนาแน่นของกระดูกที่สูงขึ้น อาจลดความเสี่ยงของกระดูกหักได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตรวจสอบความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างชาอู่หลงและการหักของกระดูก
ข้อเท็จจริงที่คุณควรรู้ ก่อนการดื่มชาอู่หลง
ชาอู่หลงเป็นชาชนิดหนึ่งที่มีปริมาณคาเฟอีน หากมีการบริโภคที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ปวดหัว นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ และบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงในบางคนได้ด้วย
นอกจากนี้การบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง โพลีฟีนอล มากเกินไปอาจทำให้พวกมันทำหน้าที่เป็นโปรออกซิแดนท์ (Pro-oxidants) ซึ่งเป็นการเร่งให้เกิดการปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ การบริโภคส่วนเกินอาจเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารเสริมโพลีฟีนอล ส่วนใหญ่แล้วไม่น่าจะเกิดจากการดื่มชาเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้สารฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในชา ยังสามารถจับกับธาตุเหล็กที่พบในอาหารจากพืช ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมจากระบบย่อยอาหารได้ 15-67% ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาระดับธาตุเหล็กต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาพร้อมมื้ออาหาร และควรเลือกบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก