ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ชุมชุมค้านนายทุน ปิดเส้นทางไป ร.ร. โวยราชการไม่สนแก้ปัญหา โลกออนไลน์ผุดแคมเปญหยุดเที่ยวจนกว่าธุรกิจเลิกคุกคามชาวบ้าน
ปัญหาชาวเล ถูกรุกไล่จากแผ่นดินที่อาศัยอยู่มาอย่างช้านาน ยังไม่จบสิ้น ซ้ำยังบานปลายโดยเป็นฝ่ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนได้รับผลกระทบ
ล่าสุด วันที่ 28 พ.ย.65 นายชาริฟ หาญทะเล ชาวเล-อูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าชาวเลกว่า 100 คน รวมตัวเพื่อคัดค้านการปิดทางเข้า-ออกที่เดินไปสู่โรงเรียนบ้านเกาะอาดังโดยนายทุนกำลังกั้นรั้วเหล็ก และทำเป็นประตูปิดตายให้ผ่านเฉพาะผ่านบางคน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องออกมาร่วมคัดค้านเป็นวันที่สอง แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูแล
- สะท้อนปัญหา ‘ชาวเล’ ในวันที่นายทุนรุกไล่ ‘หลีเป๊ะ’ วิกฤต โดนปิดทางเข้าโรงเรียน
“ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่มา ทุกหน่วยงานแม้แต่ตำรวจที่เราไปแจ้งความแทบทุกวัน เขาก็ไม่มา อ้างว่าไม่มีอำนาจในการระงับเหตุการณ์เช่นนี้ อุทยานฯก็ไม่มา เราอยากร้องเรียนไปยังผู้บริหารประเทศ เพราะตรงนี้เป็นเส้นทางหลักในพิธีลอยเรือ คนเจ็บป่วยไปอนามัยหรือเด็กๆก็ใช้เส้นทางนี้ไปโรงรียน เส้นทางนี้เป็นเส้นเดียวลงหาดบริเวณอื่นเป็นตกเป็นของรีสอร์ทและนายทุนหมดแล้ว เราไม่อยากให้เขาปิด อยากให้เขารื้อถอนรั้วเหล็กออก อยากให้มีการพิสูจน์สิทธิให้เสร็จสิ้น ตั้งแต่ผมเกิดมาก็ใช้เส้นทางนี้เข้าออกกลางเกาะไปหาดต่างๆ ปู่ย่าตายายใช้มานานกว่า 200 ปี”นายชาริฟ กล่าว
นายชาริฟ กล่าวว่า เส้นทางที่ถูกปิดนี้เป็นทางเดินของชุมชน แต่คนที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินคนแรกบอกเป็นที่ของเขาแล้วนำไปขายต่อ ชาวบ้านไม่รู้ไม่เห็นเลยว่าพวกเขาซื้อขายกันตอนไหน และไม่เคยมีการนำเอกสารสิทธิมาให้ชาวบ้านดู ตอนนี้ทุกคนลำบากมากเพราะอยู่อย่างหวาดระแวงกลัวถูกทำร้ายร่างกายเพราะเขามีอิทธิพลและไม่รู้ว่าเขาจะปิดกั้นไม่ให้เข้าออกเลยตอนไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการชุมนุมชาวบ้านได้เขียนป้ายด้วยข้อความต่างๆ เช่น เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาแก้ไขปัญหา ขณะที่เด็กๆถือป้าย “อย่าปิดเส้นทางไปโรงเรียนของหนู” ขณะเดียวกันมีกระแสในโซเชียลที่รณรงค์ให้หยุดเที่ยวเกาะหลีเป๊ะจนกว่าธุรกิจท่องเที่ยวหยุดคุกคามคนดั้งเดิม
ทั้งนี้ชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาการปิดกั้นเส้นทางสัญจรสาธารณะชุมชนเกาะหลีเป๊ะ โดยระบุว่า ด้วยชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ได้รับความความเดือดร้อนอย่างรุนแรงจากกรณีการซื้อขายที่ดิน โดยนายทุนพยายามเข้าครอบครองที่ดินที่เป็นบ้านชาวบ้านโดยฟ้องร้องเป็นคดีความ
ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น. นายทุนให้ลูกน้องมาเชื่อมเหล็กปิดกั้น เส้นทางสัญจรที่เป็นทางดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ.2452เป็นต้นมาโดยชาวเลใช้เป็นเส้นทางสัญจรในการให้นักเรียนเดินเข้าโรงเรียน สัญจรเข้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ทางสัญจรเข้าสุสาน ชุมชนชาวเล และเป็นทางเดินของนักท่องเที่ยวที่มาเกาะหลีเป๊ะ ทําให้นักเรียน ชุมชน และ นักท่องเที่ยวรับผลกระทบโดยต้องปีนรั้วเพื่อสัญจรซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียของจังหวัดสตูลและ ประเทศไทยอย่างมาก
“ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะมีความเดือดร้อนที่สุด จึงขอให้ท่านเร่งดําเนินการประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน พวกเราเกิดและอาศัยที่เกาะหลีเป๊ะมาอย่างช้านาน ได้ ใช้ประโยชน์ที่แห่งนี้อย่างยาวนานมากกว่า 113 ปี การกระทําเช่นนี้ส่งผลให้ชุมชนตลอดจนนักท่องเที่ยวผู้ร่วมใช้เส้นทางสาธารณะจํานวน 2,000 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่งเพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข”ชาวบ้านระบุไว้ในหนังสือร้องเรียน
ด้าน พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ลงพื้นที่และประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยชาวเลกลุ่มนี้ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายมาจากเกาะลันตาและที่อื่นๆอีก 2 เกาะและพวกเขาอยู่กันอย่างชอบธรรมเพียงแต่ไม่ได้แจ้งการครอบครองสิทธิ จนกระทั่งปี 2517 ได้มีการประกาศเขตอุทยานฯทับพื้นที่หวงห้ามโดยหลักการแล้วชาวเลยังมีสิทธิเพียงแต่ไม่มีเอกสาร
ต่อมาได้มีคนแจ้งครอบครองออกเอกสาร สค.1 และกลายเป็น นส.3 แต่ที่ดินบางแปลงกลับบวมขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ดินของนางดารา ซึ่งแจ้งว่ามีคนอยู่ไม่กี่รายแต่ข้อเท็จจริงคือมีชาวเลอยู่ในพื้นที่นั้นมากกว่าที่แจ้ง
“เสียดายที่ผมต้องออกจากตำแหน่งก่อน แต่ทำประเด็นนี้ใกล้เสร็จแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครทำต่อ จริงๆแล้วควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าตอน ออก สค.1 มีกี่ไร่ ออกเป็น นส.3 กี่ไร่ หากตรงไหนบวมหรือบานก็ให้เพิกถอนเพื่อนำที่ดินนั้นไปให้ชาวเลที่เดือดร้อนได้อยู่ต่อ ปัญหาคือมันมีการโกงกินกันเป็นระบบ ออกเอกสารสิทธิอะไรไปราชการต้องรู้ ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ผมไม่ได้ทะเลาะกับชาวเล แต่ทะเลาะกับข้าราชการ เพราะเป็นไปได้อย่างไรปล่อยให้พื้นที่บานในเอกสารสิทธิเรื่อยๆ ควรยกเลิก นส. 3 ”พลเอกสุรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่าควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรเพราะทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากัน พลเอกสุรินทร์ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอต้องเป็นคนกลางเข้าไปดูแล โดยเฉพาะเรื่องทางเดินและลำคลองสาธารณะ เพราะเอกสารสิทธิที่ออกไว้ทับคูคลองหมด ทำให้เกิดน้ำท่วมกลางเกาะหลีเป๊ะ
“หากผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินปิดเส้นทางไปโรงเรียน ควรต้องฟ้องศาลบังคับให้เปิดทันทีเพราะออกเอกสารสิทธิผิดมาตั้งแต่ต้น หน่วยงานราชการควรทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่อะไรผิดก็ปล่อยให้ผิดไปเรื่อยๆ
“เป็นไปได้งัย ทางน้ำไม่มี ทางน้ำไม่มี เขาอยู่ตั้งแต่ ร.5 พอจับจองเป็น สค.1จนชนกัน ที่ดินก็ไม่ตรวจสอบ ที่ดินต้องรับผิดชอบเอกสารที่ออกโดยมิชอบ คลาดเคลื่อน ส่วนนายอำเภอรับผิดชอบทางน้ำทางสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน การปิดเส้นทางนายอำเภอต้องรับผิดชอบเต็มๆ”พลเอกสุรินทร์ กล่าว