ผู้ใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งวิจารณ์ถึงสถานการณ์การเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมันเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้หรือไม่ จากการอ้างว่าถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยที่ กกต. ไม่ได้เรียกนายพิธาไปชี้แจงเลย
เหตุการณ์นี้ทำให้แฮชแท็ก #ก้าวไกล #กกตมีไว้ทำไม #ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อยไปถึง #ม็อบ12กรกฎาคม66 ถูกพูดถึงอย่างมากจนติดอันดับแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมในช่วงบ่ายวันดังกล่าว
หลายกลุ่มและสมาคมที่มีแนวร่วมเป็นคนรุ่นใหม่ต่างโพสต์พร้อมติดแฮชแท็กเหล่านี้ให้แนวร่วมเตรียมตัวชุมนุมหลังจากทราบข่าวดังกล่าว เช่น ประชาคมมอชอ, ฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย, Surin Movement, คบเพลิง
นอกจากนี้ นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชื่อดัง ยังเรียกร้องให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 18.00 น. วันพุธ (12 ก.ค.) ด้วย
- จับตา “ทนายอานนท์” นัดรวมตัว 6 โมงเย็นวันนี้ ที่สกายวอล์ก หอศิลป์ กทม.
ขณะเดียวกัน แฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม ก็มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ว่าทำไม กกต. ต้องมีมติในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแค่วันเดียว และมีการตั้งข้อสังเกตว่าต้องการลดความร้อนแรงกระแสนิยมหรือสร้างความหวั่นใจให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะร่วมโหวตนายกฯ หรือไม่
ความเห็นหนึ่งวิจารณ์ กกต. ว่า มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ก็แค่จัดการเลือกตั้งไป ไม่มีสิทธิ์มาชี้นำหรือคิดแทนประชาชนว่าคนไหนควรหรือไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งยังมีอีกหลายความคิดเห็นที่ตั้งคำถามถึงอิสระขององค์กรอิสระองค์กรนี้ด้วย และตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ให้นายพิธามีโอกาสชี้แจงเรื่องนี้ก่อน