ชาวบ้าน จ.สุพรรณบุรี รวมตัว เรียกร้องรัฐบาล ช่วยเยียวยาด่วนหลังน้ำลด หลายอำเภอ ได้รับความเดือดร้อน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับอุทกภัยในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ได้มารวมตัวกันกว่า 300 คน จัดการสัมมนา เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำของกรมชลประทาน เข้าทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา (แก้มลิง) ที่ส่งผลกระทบต่อผลิตผลเกษตรกรรม
โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผวจ.สุพรรณบุรี
นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นานทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน มาร่วมเสวนาแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำของกรมชลประทาน กับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี
ในครั้งนี้ในปี 64 จ.สุพรรณบุรี ได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างร้ายแรง ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นทุ่งรับน้ำ คือบริเวณทุ่งเจ้าเจ็ดและทุ่งโพธิ์พระยา จากเหตุดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนพื้นที่ทำนา บ่อกุ้ง บ่อปลา และยังทำให้ถนนที่ประชาชนใช้สัญจรชำรุด เสียหาย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน มีปริมาณลดลงแล้ว ส่วนระดับน้ำ ในพื้นที่ 2 อำเภอท้ายน้ำ ที่รองรับน้ำ อย่างที่อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง ระดับน้ำยังสูงอยู่บ้างในทุ่งนาเกือบ 4 เดือน ประกอบกับประตูระบายน้ำพลเทพ ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา และประตูระบายน้ำสองพี่น้อง ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน ส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ
สำหรับจ.สุพรรณบุรี ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 64 และได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) 10 อำเภอ 2 เทศบาล 110 ตำบล 35 ชุมชน 983 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 56,176 ครัวเรือน 86,915 คน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทางภาคประชาชนอยากให้มีการบูรณาการที่ต้นน้ำไม่ใช่ปลายน้ำ รวมทั้งให้ทำแก้มลิงให้มากขึ้น ขุดลอกคูคลอง แม่น้ำท่าจีน ให้มากขึ้น ส่วนถนนหนทางที่ได้รับความเสียหาย ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดูแล
สำหรับบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ บางหลังก็เสียหายมาก บางหลังเสียหายน้อย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยา จึงเสนอให้เหมาจ่าย สำหรับบ่อกุ้งบ่อปลา จะเยียวยาเขาอย่างไร เพราะว่าเกษตรกรนั้นลงทุนสูง จึงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหา
ด้านนายวิชัย ภูมิวัฒนาชัย สจ.เขต2 อ.บางปลาม้า กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเสียหายหลายอย่าง โดยเฉพาะถนนสายหลัก สายรอง เสียหายทั้งหมด ทางเทศบาล อบต. ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในบางส่วนเช่น เรือ กระสอบทราย สุขาลอยน้ำมอบถุงยังชีพ แต่ก็ไม่มีเงินที่จะซ่อมแซมถนน อยากให้รัฐบาลกลางรีบนำงบประมาณมาซ่อมแซมด่วน เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมมา 4 เดือน
ส่วนบ่อกุ้งบ่อปลา ที่รัฐบาลเยียวยามาให้ก็ไม่พอกับรายจ่ายที่สูญเสียไป ส่วนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายก็ให้เยียวยาแบบเหมาจ่ายไปเลย เช่น เมื่อปี 54 ที่น้ำท่วม ชาวบ้านก็จะได้หลังละ 5,000 บาท ส่วนเรื่องการทำนาก็ให้กรมชลประทานผันน้ำมาให้บ้าง ไม่ใช่ว่าพอน้ำมาก็ให้เรารับน้ำ แต่พอน้ำแล้งก็ไม่มีน้ำทำนา