ชาวสวนยาง ปลูกไผ่แซมพารา หันตัดหน่อขาย ใน-นอกฤดู สร้างรายได้หลักแสน

Home » ชาวสวนยาง ปลูกไผ่แซมพารา หันตัดหน่อขาย ใน-นอกฤดู สร้างรายได้หลักแสน


ชาวสวนยาง ปลูกไผ่แซมพารา หันตัดหน่อขาย ใน-นอกฤดู สร้างรายได้หลักแสน

ตรัง เกษตรกร ต.หนองช้างแล่น ปลูกไผ่แซมยาง ไม่เปิดกรีดยาง หันมาตัดหน่อไม้ขาย สร้างรายได้หลัก ทั้งในและนอกฤดูกาล ปีละกว่าแสน ดีกว่ายาง ราคาไม่แน่นอน ฝนตกบ่อย ไม่ได้กรีดทุกวัน

นายเปลื้อง ช่วยรุย อายุ 52 ปี เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ที่ 6 ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง นำผู้สื่อข่าวดูสภาพพื้นที่สวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ที่รับทุนสงเคราะห์จาก กยท.ประเภทที่ 5 ซึ่งสามารถปลูกพืชแซมยางได้

ซึ่งขณะนี้ยางทั้งหมดได้ปิดสมุดสงเคราะห์ สามารถเปิดกรีดได้มานานนับปีแล้ว แต่เจ้าของสวนกลับเก็บเอาไว้ให้สำหรับพืชแซมใช้เป็นที่พึ่งพา โดยได้ปลูกพืชร่วมหลากหลายชนิดลงไปในสวนยาง โดยเฉพาะไผ่ที่ปลูกไว้กระจายเต็มพื้นที่ทั้ง 8 ไร่ กว่า 10 สายพันธุ์

ประกอบด้วย ไผ่หม่าจู ไผ่กิมซุง ไผ่ซางหม่อน ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ลวก ไผ่ปักกิ่ง ไผ่มันหมู ไผ่เลี้ยงสีทอง ไผ่สร้างไพร (ไผ่เลี้ยงลำเอาไว้สำหรับการทำโรงเรือนไว้ปลูกพืช แทนการใช้เหล็กซึ่งแพง) ไผ่เค้าดาวน์จักรพรรดิ์ ไผ่ข้าวหลามหนองมน ไผ่ข้าวหลามปากแดง และไผ่ดำติมอร์ สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์

แต่ในจำนวนนี้ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก ลึกประมาณ 1 เมตร เจ้าของจึงได้ปลูกไผ่ร่วมยางเอาไว้หนาแน่นมากกว่าจุดอื่นๆ เพื่อหวังให้ไผ่ช่วยดูดซับน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่ และได้ตัดหน่อไผ่ขาย มีรายได้ทุกสัปดาห์ๆ ละ 2 ครั้ง คือ วันเสาร์ และวันอังคาร แต่ละครั้งได้นับร้อยกิโลกรัม ทั้งในและนอกฤดู แต่ดูแลจนสามารถออกหน่อนอกฤดูได้มากกว่าออกในฤดู

โดยช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงในฤดูจะมีหน่อไม้ออกจำนวนมาก แต่ไผ่ของเกษตรกรรายนี้กลับหน่อจะออกน้อย เพราะดูแลบำรุงรักษาให้ออกนอกฤดูจำนวนมากกว่า ทำให้ในช่วงหน้าแล้ง สามารถตัดหน่อไผ่ขาย มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยตัดส่งให้เพื่อนซึ่งรวมกลุ่มกันปลูกและแปรรูปนำไปขาย ทั้งหน่อไม้สด และหน่อไม้ดอง

นายเปลื้อง กล่าวว่า สวนยางของตนเปิดกรีดได้นานนับปีแล้ว แต่ตนไม่เปิดกรีด เอาไว้ให้พืชร่วมพึ่งพา จะเห็นว่าต้นไผ่ที่ตนปลูกไว้สามารถสะสมอินทรีย์วัตถุได้มากมายเป็นอาหารของไผ่ ทำให้ไผ่สมบูรณ์ มีหน่อให้ตลอดเวลา

ตนดูแลให้สามารถออกหน่อนอกฤดู เพียงแต่เสริมด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ และให้น้ำในหน้าแล้ง สร้างความชุ่มชื่นให้กับดิน จึงทำให้หน่อไม้ของตนออกนอกฤดูมากกว่าในฤดู แถมอวบใหญ่ น้ำหนักดี หนักหน่อละ 1-2 กก. ซึ่งในช่วงหน้าแล้งที่ออกนอกฤดู บางหน่อขายได้ 70-100 บาท และสามารถตัดได้ครั้งละประมาณ 70-100 กก. ทำให้มีรายได้เดือนละ 10,000- 20,000 บาท

เฉพาะเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งในอนาคตจะสามารถตัดเก็บหน่อได้ทุกวัน และขยายพื้นที่ปลูกไผ่เชิงเดี่ยวเพิ่มอีก 1 แปลง ทั้งนี้ การปลูกไผ่ ถ้าต้องการขายลำ จะใช้เวลาโดยรวมประมาณ 5 ปี จึงจะตัดลำขายได้ แต่ระหว่างที่ยังขายลำไม่ได้ ระหว่างทางสามารถตัดหน่อขาย เป็นรายได้ดีกว่ามาก

นอกจากนั้น เมื่อผู้สื่อข่าวติดตามไปดูการทำหน่อไม้ต้มสดขาย และการแปรรูปทำหน่อไม้ดองไว้ขายนอกฤดูของกลุ่ม โดยหน่อไม้ที่ได้มาจากแปลงสวนยางของ นายเปลื้อง และของ นางพะยอม วารินสะอาด อายุ 56 ปี ซึ่งรวมกลุ่มกันปลูก และแปรรูปหน่อไม้ โดยเกษตรกรมีการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการปั้นเตาดินขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อสามารถใช้ได้กับกระทะใบบัว

สำหรับต้มหน่อไม้สด ไม่ต้องใช้แก๊ส ซึ่งสิ้นเปลือง แต่ใช้วัสดุเศษขยะจากบริเวณบ้าน และในสวน เช่น เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว ไม้ฟืน นำมาเป็นเชื้อเพลิงต้มหน่อไม้สดแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และคิดค้นเครื่องมือตัดหน่อไม้เป็นแว่นๆ ด้วยตัวเอง เพื่อลดเวลาทำงาน และเป็นเครื่องทุ่นแรง ทำให้สามารถทำหน่อไม้ดองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

นางพะยอม บอกว่า หน่อไม้จากสวนของตนเอง และสวนของ นายเปลื้อง ซึ่งจับมือกันทำ ในปีที่ผ่านมาสามารถผลิตหน่อไม้ทั้งแบบต้มสด และหน่อไม้ดอง ไว้ขายทั้งในฤดูและนอกฤดูได้มากถึง 4 ตัน สร้างรายได้ให้หลายแสนบาท และในปีนี้เชื่อว่าน่าจะได้มากถึง 5 ตัน ซึ่งนอกฤดูจะขายได้ราคาดีกว่า แต่ต้องการรักษาลูกค้า จึงต้องผลิตขายทั้งในและนอกฤดู

โดยหน่อไม้ดองหน่อไม้ดองในฤดู จะขาย กก.ละ 35 บาท ส่วนนอกฤดู จะขายราคา กก.ละ 50 บาท ขณะที่หน่อไม้สดต้มในฤดู ขายราคา กก.ละ 40 บาท แต่ถ้านอกฤดู จะขายได้ กก.ละ 60 บาท จึงมีรายได้ดีมาก เป็นรายได้หลักแทนรายได้จากสวนยาง ซึ่งราคาไม่ดี ขึ้นๆ ลงๆ และฝนตกบ่อย ไม่สามารถกรีดได้ทุกวัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ