ชาวบ้านสะท้อน ประกาศอุทยานฯ เพิ่ม 22 แห่ง ปัญหาเพียบ ข้องใจขาดการมีส่วนร่วม นักกฎหมายเตือน พรบ.ใหม่ อาจขัดรัฐธรรมนูญ แนะ ครม.อย่าเร่งประกาศอุทยาน
วันที่ 3 พ.ย.65 ที่อาคารปฎิบัติการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จ.เชียงใหม่ มีการสัมมนาเรื่อง “เตรียมประกาศพื้นที่อุทยานฯ22 แห่ง:เอื้อประโยชน์หรือรอนสิทธิชาวบ้าน” โดยชาวบ้านจากชุมชนที่กำลังเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่งคือเตรียมอุทยานฯออบขาน จ.เชียงใหม่ เตรียมอุทยานฯแม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน และเตรียมอุทยานฯถ้ำผาไท จ.ลำปาง
นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนอุทยานฯลำน้ำกก จ.เชียงราย เข้าร่วม โดยมี ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช.เป็นผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ มช. ชี้ความคิดของรัฐแตกต่างกลุ่มชาติพันธุ์
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. กล่าวว่าเมื่อ 30 ปีก่อน พะตีจอนิ โอโดเชา มาหาตนเพื่อหารือกรณีกรมป่าไม้กำลังขยายอุทยานฯ ชาวบ้านกังวลใจมากและคัดค้านโดยการเดินขบวนไปถึง จ.ลำพูน และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ บินมาคุยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดค้านของคนที่อาศัยอยู่กับป่า
เพราะการที่รัฐจะประกาศเขตป่าสงวนหรืออุทยานฯชาวบ้านมักไม่รับรู้ ทั้งๆที่อยู่มาก่อน ชาวบ้านไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าตามที่ถูกกล่าวอ้าง โดยเฉพาะชาวปกาเกอะญอที่มีภูมิปัญญาทำไร่หมุนเวียน ดังนั้นความคิดของชาวบ้านจึงแตกต่างจากรัฐ เพราะชาวบ้านปลูกข้าวไร่เพื่อเป็นอาหารแต่รัฐกลับสนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง นอกจากนี้รัฐยังพยายามใช้อุทยานฯเป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่สร้างโรงแรม
“ความคิดของรัฐจึงแตกต่างจากชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านต้องเผชิญกับนโยบายของรัฐที่เร่งรัดประกาศเขตอุทยานฯทับที่ชาวบ้าน พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจกับการประกาศเขตอุทยานฯของรัฐ จึงต้องต่อรองกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯตลอดเวลา พวกเขาไม่มั่นใจว่าวิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงจากการเตรียมประกาศอุทยานฯหรือไม่ จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการประกาศอุทยานฯ แต่เขาต้องการความชัดเจนว่าเขาจะมีวิถีชีวิตอย่างไรในอุทยานฯใหม่ จะเป็นการรอนสิทธิของพวกเขาหรือไม่”ดร ชยันต์ กล่าว
นายอิทธิพล ไทยกมล ผู้แทนกรมอุทยานฯกล่าวว่า ภาครัฐออกแบบในการแก้ไขปัญหาโดยพูดถึงชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะอุทยานฯที่เตรียมประกาศซึ่งในอดีตประกาศกว้างซึ่งอาจทับพื้นที่ของประชาชน ดังนั้น พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่ ได้รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เราอยากให้ภาคประชาชนที่ทำประชาพิจารณ์นำเสนอว่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เท่าไร และใช้ประโยชน์อะไรบ้างเพื่อทำเป็นบันทึกเสนอส่วนกลาง พื้นที่ไหนมีข้อสงสัยหรือข้อกังวลใจก็ให้พูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ ฝ่ายปกครองและชุมชน เมื่อนำเสนอคณะกรรมการอุทยานฯจะได้พิจารณาว่าพื้นที่ใดที่ประกาศได้ พื้นที่ใดที่ยังมีข้อกังวลใจ
นายอิทธิพล กล่าวว่า เชื่อว่าเป้าหมายของชุมชนและอุทยานฯตรงกันคือไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ผ่านมาพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือไร่หมุนเวียนเป็นวาทกรรมที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจร่วมกัน
ส่วนเรื่องกระบวนการที่เปิดเวทีรับฟังเสียงของชาวบ้านในพื้นที่เตรียมอุทยานฯออบขาน ที่อำเภอสะเมิงนั้น ได้จัดทำรายงานเสนออธิบดีกรมอุทยานฯแล้ว โดยพื้นที่ 1.2 แสนไร่จะสามารถประกาศได้ ส่วนที่กังวลใจกว่า 2 หมื่นไร่ คงต้องทำแผนร่วมกัน ชุมชนไม่ได้เรียกร้องอะไรที่ผิดแผกแตกต่าง แต่สามารถร่วมกันอนุรักษ์ได้
นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯถ้ำผาไทกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ออกมาคัดค้านแต่ไม่ได้คัดค้านการประกาศเขตอุทยานฯเพียงแต่ขอการมีส่วนร่วม กรณีบ้านกลางเป็นตัวชี้วัดของปัญหา ซึ่งในอดีตป่าถูกทำลายและชาวบ้านฟื้นฟูจนเป็นป่า
พอปี 2537 มีป้ายอุทยานฯไปติดเต็มไปหมด ซึ่งชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย และพื้นที่ยังถูกทับซ้อนหลายชั้นทั้งป่าสงวน ป่าอนุรักษ์และอุทยานฯ เราจึงพยายามบอกให้เดินสำรวจ โดยระหว่างนี้ชาวบ้านถูกกระทำมาโดยตลอด เช่น การทำไร่หมุนเวียนต้องระมัดระวังในการทำมาก เพราะมีจีพีเอสคอยจับจ้องห้ามทำเกินพื้นที่แม้แต่นิดเดียว ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับแรงกดดันมาก บางส่วนต้องหนีไปอยู่แถวเหมืองแม่เมาะ ทั้งๆที่เป็นพื้นที่มีมลพิษ แม้ว่าที่ผ่านมาชุมชนมีกฎระเบียบชัดเจนก็ยังถูกจับอยู่ดี
นายสมชาติ กล่าวว่า แม้จะมี พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่ แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องเลย สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องไปแต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของผู้มีอำนาจหรือไม่ ตลาดระยะเวลา 30 ปี ชาวบ้านบ้านกลางพยายามเสนอข้อกังวลใจหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการับฟังจากผู้บริหารอุทยานฯ แถมยังบีบฝ่ายอำเภอและฝ่ายปกครอง เราขอกันพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ และขอช่วยดูแลป่า 2 หมื่นไร่ แต่กรมอุทยานฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่เคยรับฟัง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าต่อไปเราจะไม่ดูแลการสร้างแนวกันไฟแล้ว
‘พฤ’ ข้องใจ ประกาศแล้วเลี้ยงควายได้ไหม
นายพฤ โอโดเชา ชาวบ้านอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯออบขาน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องสู้กับหน่วยงานรัฐคือต้องทำแผนว่าพื้นที่ที่เราขอให้กันไว้ เราเตรียมไว้ใช้อะไร แต่ชาวบ้านไม่มีงบประมาณที่จะไปทำแผนเช่นเดียวกับอุทยานฯทำ ทั้งๆที่เราอยู่มาก่อน แต่กฎหมายไม่เคยให้เกียรติให้เข้าไปมีส่วนร่วม
การประกาศเขตอุทยานฯไม่เคยสนใจป่าของชาวบ้าน โดยชาวบ้านมีแต่ถูกจับ แม้กฎหมายบอกว่าให้มีส่วนร่วม แต่โดยข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเตรียมประกาศอุทยานฯเราไม่แน่ใจต่อไปว่าเรายังสามารถเข้าไปเลี้ยงควายได้หรือไม่ หมู่บ้านก็ถูกบีบให้เล็กลงเรื่อยๆจนทำให้ชาวบ้านต้องเข้าหานายทุน เพราะถูกกดภาคเกษตรให้เล็กลงจนไม่มีกิน
“เขาบอกว่าอยู่ในช่วงเตรียมประกาศอุทยานฯ พวกเราจะไม่เป็นไร แต่เขาค่อยๆขย้ำๆเราอยู่เรื่อยๆ จนเรากลัวมากว่าเราจะสูญสิ้นพื้นที่ วันนี้เราไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ความดีที่เราดูแลป่าจนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนหมด”นายพฤ กล่าว
นายพฤ กล่าวว่า อุทยานฯออบขานที่เตรียมประกาศจะเอาแม่น้ำขาน ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้านไปไว้ในอุทยานฯด้วย เราอยากให้พื้นที่ที่เราดูแลเป็นป่าชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้ แต่พอเตรียมประกาศเป็นอุทยานฯ ข้อเรียกร้องของเรากลับหายไป ทุกวันนี้ชาวสะเมิงต่างพึ่งพาป่าแห่งนี้และป่าไม่ถูกทำลาย เพราะช่วยกันดูแล กฏกติกาของอุทยานฯ ไม่เอื้อให้ชาวบ้านอยู่ต่อไป
ชาวบ้าน ลั่นถ้าประกาศต้องเปิดให้มีส่วนร่วม
นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้แทนชาวบ้านเตรียมประกาศอุทยานฯแม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าพื้นที่เตรียมประกาศแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที 2.5 แสนไร่ใน 3 จังหวัดคือตาก แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ชาวบ้านตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าทำไมถึงต้องคัดค้านการประกาศเขตอุทยานฯ โดยพวกเราพยายามเข้าไปมีส่วนร่วม ทุกหมู่บ้านพยายามใช้รูปแบบโฉนดชุมชน พยายามต่อรองและเจรจาเพื่อเอาข้อมูลทั้งหมดมาดูว่าเข้าช่องทางกฎหมายข้อใดได้บ้าง และได้ยื่นข้อมูลเรื่องโฉนดชุมชนไปแล้ว
แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็มาสำรวจใหม่ จนวันนี้ยังทำกันไม่เสร็จ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างชาวบ้านกับอุทยานฯ เพราะเคยเดินสำรวจแนวเขตร่วมกัน แต่ยังมีที่ดินของชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ยึด ทั้งๆที่เขามีที่ดินเพียงแค่แปลงเดียว เราพยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นความขัดแย้งในชุมชน
“ในฐานะคนในพื้นที่ เราพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีการแก้ไข แต่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องนโยบายและกฎหมาย เราพยายามเรียกร้องว่า พ.ร.บ.อุทยานฯไม่สอดคล้อง ข้อเสนอของชาวบ้านคือถ้าจะประกาศอุทยานฯ เราขอให้มีการบริหารจัดการที่ดีร่วมกันเพราะว่าในพื้นที่ทั้งหมดจะค่อยๆถูกทำลายไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐจริงใจก็ควรสร้างอำนาจตัดสินใจร่วมกัน”นายสะท้าน กล่าว
นายอาหมื่น มาเยอะ ชาวบ้านแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯลำน้ำกก กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลโดยไม่เปิดเผยกับชาวบ้าน ชาวบ้านหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ประกาศอุทยานฯ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการกฎหมาย การที่รัฐมาทำประชาคมควรทำภายหลังจากที่ให้ความรู้ชาวบ้านก่อน เป็นภาพสะท้อนว่าชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมเลย เพราะชาวบ้านไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ อยากบอกเจ้าหน้าที่ว่าจริงๆแล้วชาวบ้านให้ความร่วมมือทุกอย่างแต่อยากให้เป็นมิตรกันมากกว่านี้
นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่ในอุทยานฯชุมชนมักถูกมองเป็นผู้ร้ายทั้งๆที่อยู่มาก่อน การที่รัฐปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการใช้สารเคมีหรือการพังทลายของหน้าดิน
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมที่ กสม.ติดตามคือนโยบายอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน โดยในปี 2564 กสม.ได้เสนอว่ารัฐบาลควรมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯจัดการปัญหานี้โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
“เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ชาวบ้านอยู่มาก่อนอุทยานฯ ดังนั้นอุทยานฯต้องทำความเข้าใจ และเอาคนกลางเข้ามาช่วย ควรเอาคนที่ชาวบ้านไว้ใจ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของอุทยานฯ ต้องมีคนที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วย เช่น นักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม จะทำให้งานเดินหน้าได้ ตอนนี้มีอุทยานฯบางแห่งที่หัวหน้าอุทยานฯที่ทำงานเก่งและเข้ากับชาวบ้านได้”นางปรีดา กล่าว
นักกฎหมายติง ซ่อนปีศาจไว้ใน กม. เตือนทำผิดรัฐธรรมนูญ
นายสุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าความขัดแย้งระหว่างสิทธิของประชาชนและหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด โดยก่อนปี 2532 ไม่มีปัญหาเพราะตอนนั้นรัฐใช้ประโยชน์จากป่า ตั้งแต่ตั้งกรมป่าไม้ คือ มีการตัดไม้ จนกระทั่งมีการประกาศยุติสัมปทาน รัฐจึงเกิดแนวคิดอนุรักษ์ป่าไม้ และประกาศแนวเขตอุทยานฯเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน โดยรัฐมีนโยบายอพยพคนออกจากป่า แต่ไม่รู้เอาคนไปไว้ที่ไหน เพราะประชาชนอยู่ร่วมกับป่ามานับร้อยปี จนเกิดความเคลื่อนไหวมาโดยตลอดประชาชนไม่ไว้ใจให้รัฐจัดการป่าฝ่ายเดียว
นายสุมิตรชัย กล่าวว่า มีการเตรียมประกาศอุทยานฯเพิ่ม 22 แห่ง แต่ปัจจุบันหลายพื้นที่ยังประกาศไม่ได้เพราะประชาชนคัดค้านมาโดยตลอด เดิมกฎหมายอุทยานฯเป็นไปในเรื่องป่าปลอดคน ประชาชนเข้าไปต้องถูกเก็บเงิน จนต้องเกิดการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯใหม่ โดยมีกว่า 4 พันหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับป่าอุทยานฯและกว่า 1 หมื่นหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวน และรัฐพยายามออกนโยบายผ่านมติ คณะรัฐมนตรีมากมาย
นายสุมิตรชัย กล่าวว่า คสช.ออกมาตรการเข้มข้นเหมือนค้อนที่คอยทุบชาวบ้าน และเพิ่มโทษใน พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับใหม่อย่างรุนแรง เหมือนรัฐเล่นไพ่สองหน้า คือให้การคุ้มครองสิทธิและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ แต่ไม่มีแผนในการจัดการ อุทยานฯที่เตรียมประกาศไม่ได้ประโยชน์จากมาตรา 64/65 ในพ.ร.บ.อุทยานฯ
กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่พูดถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมเลย ดังนั้นอย่าพูดแค่นโยบาย แต่ต้องแก้กฎหมายเพราะหากไม่แก้ก็ไม่ควรประกาศอุทยานฯใหม่ ควรขียนเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แม้รัฐบาลไทยพยายามประกาศให้โลกรู้ว่าใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงของภาคีแต่เนื้อกฏหมายกลับไม่มีเลย
“เราอย่าซ่อนปีศาจไว้ในกฎหมาย บทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งของรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไม่ได้ พ.ร.บ.อุทยานฯฉบับนี้ขัดแย้ง ซึ่ง กสม.สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ อยากเตือนไปยังคณะรัฐมนตรีวว่า ควรคิดให้ดีเพราะกฏหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อุทยานฯ 22 แห่งที่จะประกาศต้องพิจารณาให้ดีว่าขัดแย้งหรือไม่ การทำผิดรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเล็กๆ”นายสุมิตรชัย กล่าว