"ชัยธวัช" เปิดข้อมูลกลางสภาฯ แก้ ม.112 อดีตเคยทำมาแล้ว ไม่ใช่กฎหมายใหม่พิสดาร

Home » "ชัยธวัช" เปิดข้อมูลกลางสภาฯ แก้ ม.112 อดีตเคยทำมาแล้ว ไม่ใช่กฎหมายใหม่พิสดาร

“ชัยธวัช” ชี้แจง พร้อมยกตัวอย่างชัดๆ การแก้ไขความผิดหมิ่นประมาทตาม ม.112 เคยมีมาก่อนแล้วสมัยอดีต ไม่ใช่กฎหมายใหม่หรือพิสดาร ขออย่านำไปตีความจนเกินจริง 

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระโหวตเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขมาตรา112 ที่มีสมาชิกรัฐสภาหลายคนได้อภิปรายถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่มีการเข้าใจผิดไปมาก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจรอบด้าน

อย่างประเด็นที่มีการบอกว่า “ทำไมพรรคก้าวไกลถึงรุกได้แต่ถอยไม่เป็นในกรณีนี้” เกิดจากความคิดความเข้าใจสถานการณ์เกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 2563 -ปัจจุบัน มีประชาชน 253 คน ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องกล้าหาญเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม ก่อนที่จะเป็นระเบิดการเมืองในอนาคต เราสำนึกว่าถ้าเมื่อไหร่เกิดปัญหาขึ้นมาในสังคมแล้วผู้แทนทำเป็นมองไม่เห็น แล้วจะมีมโนธรรมสำนึกในการเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ได้อย่างไร

พร้อมอธิบายเนื้อหาใจความสำคัญ ในการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลในสมัยประชุมที่แล้ว ว่า เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อให้ได้สัดส่วนกับการเคารพสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งในหลักสากลโทษจำคุกในทางอาญา ควรจะนำไปใช้กับการกระทำผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเท่านั้น

ในปัจจุบันถือว่าไม่เหมาะสมแล้วสำหรับกรณีหมิ่นประมาท เพราะไม่ได้สัดส่วนระหว่างการประกันเสรีภาพการแสดง ความคิดเห็นกับความคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษรุนแรงกว่าสภาพความผิด การกำหนดบทลงโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปยังกระทบต่อสื่อมวลชน ดังนั้นในหลายประเทศ จึงเริ่มทยอยที่จะยกเลิกจำคุกในความผิดหมิ่นประมาทไปแล้ว

ส่วนที่บอกว่าไม่เคยเห็นการยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิด ในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันนั้น นายชัยธวัช ได้ย้อนเล่าถึงสมัยปี 2476 ที่ได้ปรับปรุงกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขในปี 2478 ได้แก้ ข้อ 104 ให้ยกเว้นความผิดหมิ่นประมาทต่อรัฐบาลและสถาบัน

ดังนั้น นี่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยไม่เคยพบเคยเห็น แต่ถ้าหากรัฐสภาในปี 2566 จะเห็นว่าบทยกเว้นโทษเหล่านี้ไม่เหมาะสมอีกแล้วกับยุคสมัย ก็ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ แต่ขอชี้แจงว่าพวกเราไม่ได้เสนอกฎหมายที่เป็นอะไรใหม่หรือพิสดารเลย แต่กลับถูกอธิบายตีความจนเกินจริง ตนจึงจำเป็นต้องชี้แจง

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค.57 ในมาตรา 3 ก็ระบุเนื้อหาคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 6 ดังนั้นเรามีกฎหมายอาญาที่ในฐานความผิดละหุโทษ ขณะเดียวกันก็มีบทยกเว้นโทษยกเว้นความผิด และก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีข้อความในทำนองเดียวกันกับปัจจุบัน ดังนั้น ไม่ได้มีความขัดแย้งหรือกระทบกับรัฐธรรมนูญที่ทำให้สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์หมดไป นี่คือข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็นอันใดอันหนึ่ง ตนจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดกับกฎหมายของพรรคก้าวไกล

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ