วันนี้(4 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปรียบเทียบการรับมือสถานการณ์โควิด-19 กับทฆษฎีทางเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่ากับดักที่สำคัญอย่างหนึ่งของการตัดสินใจ คือการการตัดสินใจผิดจากต้นทุนจม โดยข้อความทั้งหมดระบุว่า
Sunk Cost Fallacy: อย่ายึดติดกับต้นทุนที่เสียไปแล้ว
ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) มีพูดถึงกับดักอันหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเรื่องในอนาคตผิด คือ Sunk Cost Fallacy หรือ การตัดสินใจผิดจากต้นทุนจม
Sunk Cost Fallacy คือ การที่เราตัดสินใจเรื่องของอนาคตโดยไปยึดติด เสียดายกับต้นทุนที่เราเสียไปแล้ว (ต้นทุนจม) และเรียกคืนมาไม่ได้แล้ว (และไม่ได้มีผลกับอนาคตเลย) เช่น
การที่เราตัดสินใจซื้อตั๋วหนัง 100 บาท เข้าไปดูหนัง พอดูไปได้ครึ่งเรื่อง หนังมันแย่มากๆ ไม่สนุกเลย เสียเวลาดู เรามีทางเลือกสองทาง คือ
- ออกจากโรงหนัง แล้วใช้เวลาที่เหลือไปทำสิ่งที่มีประโยชน์กว่า
- ทนดูหนังจนจบ เพราะเสียดายค่าตั๋ว 100 บาทที่จ่ายไปแล้ว
การเลือกทางที่สอง อาจเรียกได้ว่าเป็น Sunk Cost Fallacy เพราะเงิน 100 บาทที่จ่ายไป เราไม่มีทางได้คืน แต่เรายอมเสียเวลาไปอีก 1 ชม.เพราะเราเสียดายเงินที่จ่ายไปแล้ว ในชีวิตประจำวันหรือในธุรกิจ เราจะเจอกับดักนี้อยู่ตลอด เช่น รู้ว่าไปต่อกับแฟนไม่ได้แล้วแต่ก็ไม่ตัดใจ เพราะเสียดายเวลาที่ผ่านมา หรือลงทุนทำธุรกิจแล้วไม่สำเร็จ ก็ยังถมเงินลงไปต่อเพราะเสียดายเงินที่ลงทุนไปแล้ว หรือติดดอยหุ้น เพราะซื้อมาราคาแพง ไม่กล้าขายเสียดายต้นทุน ทั้งๆที่ราคาหุ้นในอนาคต ขึ้นกับผลการดำเนินงานของบริษัท ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราซื้อมาราคาเท่าไรเลย
นอกจากตัวต้นทุนที่เป็นเงินแล้ว ต้นทุนอีกอันที่ทำให้เราติดกับดักนี้คือ ความภูมิใจ ความเชื่อ ความมั่นใจ ที่ทำให้เราไม่ยอมรับว่าเราตัดสินใจผิดไป และลงทุนซ้ำกับสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว เพราะไม่อยากเสียหน้า ไม่อยากยอมรับว่าเราตัดสินใจพลาดไป และสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ work แล้ว เหมือนกับการไปดูหนัง นอกจากฝืนทนดูจบจบแล้ว ออกมายังบอกว่าหนังสนุกมากและซื้อตั๋วดูภาค 2 เพราะไม่อยากเสียหน้ายอมรับว่าเราคิดผิดตั้งแต่ตอนแรก
เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆที่มีความเก่าแก่หลายบริษัททั่วโลก สู้กับ Startup ที่มาใหม่ไม่ได้ เพราะบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้มี Sunk Cost ในรูปแบบของ Business Model เดิม วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมๆที่ยังมีความภูมิใจอยู่ แต่มันไม่สามารถตอบโจทย์ของอนาคตได้แล้ว
ในการรับมือกับโควิดก็เช่นเดียวกัน อย่าไปยึดติดกับ Sunk Cost ที่ผ่านไปแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว สิ่งที่เราคิดว่าดีแล้วในอดีต ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว ต้องยอมรับความจริง เรียนรู้จากปัญหาที่เกิด และ กำหนด Strategy ใหม่ทั้งด้านวัคซีน การตรวจเชิงรุก การดูแลผู้ป่วย การเยียวยา ให้เหมาะสมกับอนาคตครับ