‘ชัชชาติ’ ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาคลองไผ่สิงโต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมปลูกต้นไม้ยืนต้น ปรับภูมิทัศน์สร้างสิ่งแวดล้อมดี
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 24 ก.ค. 2565 ที่สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาและปรับภูมิทัศน์คลองไผ่สิงโต เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 ก.ค.2565 โดยร่วมกันขุดลอกคลองไผ่สิงโตด้วยเครื่องจักร จากทางพิเศษเฉลิมมหานครถึงถนนรัชดาภิเษก ปรับภูมิทัศน์อาคารบังคับน้ำไผ่พิทักษ์และบ่อสูบน้ำสุขุมวิท ซอย 4 ปรับภูมิทัศน์คลองไผ่สิงโตจากถนนวิทยุถึงทางพิเศษเฉลิมมหานคร และจากถนนดวงพิทักษ์ถึงถนนรัชดาภิเษก
เก็บขยะวัชพืชในคลอง ริมคลอง และหลังเขื่อนค.ส.ล. เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทาสีราวกันตกริมเขื่อน ปลูกต้นไม้ยืนต้น 25 ต้น ได้แก่ หว้า 10 ต้น สะเดา 10 ต้น ขี้เหล็ก 5 ต้น และปลูกไม้พุ่มบริเวณริมตลิ่ง พร้อมตัดแต่งต้นไม้ด้านบนสะพานเขียว โดยมีผู้บริหารกทม. สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานเขตคลองเตย พร้อมข้าราชการ บุคลากรกทม. และกำลังพลจิตอาสาจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) ร่วมกิจกรรม
นายชัชชาติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญ เพราะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสวนเบญจกิติกับสวนลุมพินี ผ่านทางสะพานเขียว ซึ่งจะทำให้การเชื่อมสวน 2 สวนสมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ คลองไผ่สิงโตมีน้ำเน่าเสีย และมีกลิ่นเหม็น มีทัศนียภาพที่ไม่ดี ก็จะช่วยทำให้ภาพรวมดูดีขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า คลองไผ่สิงโตมีอุโมงค์รับน้ำบึงมักกะสัน มีบ่อรับน้ำจากถนนสุขุมวิทมาลงที่นี่ และจากที่นี่ก็ลงอาคารรับน้ำแล้วออกแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านอุโมงค์บึงมักกะสัน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ ถ้าเราปรับทัศนียภาพให้ดีขึ้นก็จะเป็นการเชื่อม 2 สวนที่ดี เป็นโครงการที่เราทำตามนโยบายของโครงการจิตอาสา ก็ทำให้เกิดรูปธรรมจริงๆ ต่อไปคงปรับทัศนียภาพให้ดี มีสวนริมคลอง ปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองไผ่สิงโตให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ สวนสาธารณะเบญจกิติ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 450 ไร่ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสวนน้ำ 130 ไร่ และส่วนที่เป็นสวนป่า 320 ไร่ โดยมีแนวความคิดในการออกแบบเพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจเหมือนสวนสาธารณะทั่วๆ ไป แต่เป็นที่สีเขียวกลางเมืองที่มีประโยชน์ในการรองรับและซับน้ำ ในช่วงฤดูฝนตามแนวคิดของเมืองฟองน้ำ (sponge city)
โดยการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นบ่อธรรมชาติจำนวน 4 บ่อไว้ในพื้นที่สวน โดยใช้คลองไผ่สิงโตเป็นแหล่งน้ำสำหรับเติมบ่อทั้ง 4 ของสวนป่าสำหรับใช้ในหน้าแล้ง โดยน้ำจากคลองจะผ่านการบำบัดน้ำด้วยวิธีธรรมชาติด้วยพืชน้ำชนิดต่างๆ ที่อยู่ภายในสวน แต่ปัจจุบันคลองไผ่สิงโตเกิดการตื้นเขินจากเลนที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สภาพน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น
กทม.จึงได้ดำเนินการขุดลอกคลอง และปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองไผ่สิงโตให้ดีขึ้น รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ตลอด 2 ฝั่งคลองให้สวยงาม ซึ่งนอกจากจะทำให้น้ำที่นำมาใช้ในสวนป่าเบญจกิติมีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้เส้นทางการเดินเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนสาธารณะเบญจกิติ ผ่านทางสะพานเขียวมีความสวยงามมากขึ้นอีกด้วย