ชัชชาติร่วมประชุมสอท. แก้ปัญหาแม่น้ำเจ้าพระยา เนรมิตคลองหัวลำโพงแก้น้ำเน่า ต้นแบบ ยั่งยืน ตั้งเป้าพัฒนา เป็นเวนิสตะวันออก จากคลองทั่วกรุง
วันที่ 21 มิ.ย.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร กล่าวร่วมประชุมกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ว่าแผนที่พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองที่เชื่อมต่อ ให้เป็นแซนบ็อคของ กทม. โดยเลือกคลองหัวลำโพง ระยะทาง 1 กม. ที่ปัจจุบันมีปัญหาไม่สะอาดและมีกลิ่นเน่าเหม็นอย่างรุนแรง จะใช้เป็นต้นแบบ
“โดยดึงสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท.เข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน ตั้งเป้าหมายพัฒนาคลองหัวลำโพง ให้เป็นเวนิสตะวันออก จากทั้งหมด 1,126 คลองทั่วกรุงเทพฯ”
ขณะเดียวกันได้ให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งในเขตกรุงเทพมหานครที่มีทั้งหมดกว่า 5,000 โรง มีมาตรฐานและดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ การลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ให้เป็นแบบวัน สตอป เซอร์วิส โดยกทม.ยกให้ภาคเอกชนมีบทบาทดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่กรุงเทพมหานครหลังการฟื้นตัวของโควิด เช่น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นตัวสร้างรายได้ ซึ่งการหารือทั้งหมดภายใต้โครงการที่ทำงานร่วมกันคาดว่าจะเห็นผลภายใน 1-2 เดือน
ด้านนายเกรียงไกรกล่าวว่าการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร โดยยึดโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) มาใช้ โดยได้เลือกชุมชนคลองเตย เป็นพื้นที่นำร่องในการนำพื้นที่เปล่าในกรุงเทพมหานครมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
โดยโครงการก็จะมี การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยนำสมาชิกส.อ.ท.ทั้งหมดมามีส่วนร่วม และช่วยกันลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การผลักดันโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร หรือโครงการไซ ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถขอใบอนุญาตโรงงานได้ เนื่องจากติดผังเมือง รวมถึงขาดมาตรการจูงใจ ทาง กทม.จะไปดูในเรื่องนี้
นอกจากนี้ จะนำขยะหรือของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปริมาณขยะโดยการใช้หมุนเวียนนำกลับมาผลิตใหม่ แต่ปัญหา คือ ขยะยังขาดการคัดแยกที่ถูกวิธี ต้นทุนการผลิตยังสูง และยังขาดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ซึ่งกทม.จะไปจัดการกับขยะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้งจะสนับสนุนให้โรงงานในเขตกรุงเทพมหานครทุกแห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงาน เชื่อมโยงเศรษฐกิจให้กับชุมชน และส่งเสริมระบบซิมไบโอซิส การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานหรือระหว่างโรงงานและชุมชน ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่โรงงานด้วย จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ได้
หากเอกชนยินยอมให้นำพื้นที่มาพัฒนาตามโครงการไซ จะสามารถลดอัตราการเสียภาษีให้น้อยลงได้ และในภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในกรุงเทพมหานครสามารถใช้ผลผลิตที่ได้จากในพื้นที่มาบริโภค และสามารถสร้างรายให้กับชุมชม หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) คาดว่าจะเริ่มประชุมกันได้ภายในเดือนก.ค.นี้