ชัชชาติหาเสียง ชูนโยบาย ทางเท้าคุณภาพ 1 พันกิโลเมตร ย้ำทำได้จริง เน้นใช้งานคงทน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ซ่อมแซมไม่นาน ก่อนจะไปแก้ปัญหาอื่น
วันที่ 25 เม.ย.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่หาเสียงที่ตลาดสะพาน2 และตลาดโชคชัย4 เขตลาดพร้าว พร้อมสำรวจทางเท้าโดยรอบ ทั้งนี้เจ้าตัวเผยว่า ทางเท้าเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ จึงชูนโยบาย เดินทางดี พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กิโลเมตร
โดยจากข้อมูลทีม “เพื่อนชัชชาติ” ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา พบการร้องเรียนเรื่องทางเท้ากว่า 150 จุด จึงมีนโยบายกรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กิโลเมตร เราย้ำเป้าหมาย 1,000 กิโลเมตร ถือว่าไม่เยอะและดำเนินการได้จริง ถ้าหากเฉลี่ยรายเขต 50 เขต แต่ละเขตจะพัฒนาขั้นต่ำเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น
ทั้งนี้ต้องเลือกให้ความสำคัญจากทางเท้าที่มีการใช้งานหนาแน่นและได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้งเป็นลำดับแรก และพัฒนาให้สอดคล้องกับแต่ละบริบทและการใช้งานของแต่ละพื้นที่
โดยทางเท้าที่มีคุณภาพ ต้องออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ ผ่านมาตรฐานการก่อสร้างที่แข็งแรงคงทน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมไม่นาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ริมทางให้ร่มเงาจากการดูแลโดยรุกขกรมืออาชีพ บางจุดอาจก่อสร้างหลังคากันแดดกันฝน เพื่อส่งเสริมความสะดวกสบายในการเดิน ทั้งนี้ กทม. ต้องกำหนดแผนการพัฒนาทางเท้าให้ชัดเจนพร้อมรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ทางเท้าเป็นปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของทุกคนในกรุงเทพฯ และการเดินบนทางเท้าคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมือง
การเดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมือง เช่นเดียวกับการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ เรื่องทางเท้าต้องพัฒนาทั้งระบบ ฝุ่นน้อยลง มีร่มเงามีต้นไม้ เมื่อทางเท้าดี สุดท้ายคนจะออกมาเดินมากขึ้น และจะมีผลดีกับเศรษฐกิจ
จากนั้นเราก็จะควบคุมความปลอดภัยบนท้องถนน ปรับปรุงทางม้าลาย จำกัดความเร็วรถบนถนน ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ต้องทำเมืองให้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น