“ชัชชาติ” ชงของบประมาณ ปี’67 9 หมื่นล้าน เข้าสภา กทม. ก.ค. นี้ เชื่อมโครงการ ให้สอดคล้อง บันทึกข้อตกลง รัฐบาลใหม่ เพื่อเกิดประสิทธิภาพ
24 พ.ค. 66 – ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร ว่า กทม.เตรียมยื่นเสนอของบประมาณประจำปี 2567 ต่อสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 90,000 ล้านบาท ในเดือนก.ค.นี้
เพื่อนำมาจัดการหลายด้าน ทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งหลายโครงการสอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เช่น การคำนึงถึงความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ หรือปรับลดโครงการที่ไม่มีประโยชน์ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่ง กทม.เริ่มดำเนินการแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องย้ายท่าเรือคลองเตย และการนำพื้นที่ว่างของราชการมาใช้สอยให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และการบริหารจัดการรถไฟฟ้า รถเมล์ ซึ่ง กทม.เตรียมหารือหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม สำนักงบประมาณ ได้ขอความเห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 โดย กทม. ได้จัดทำงบประมาณแบบสมดุล ทั้งรายรับและรายจ่าย จึงตั้งงบประมาณ ประจำปี 2567 จำนวน 90,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ได้ประมาณการรายรับ ส่วนที่ราชการอื่นจัดเก็บให้ 68,300 ล้านบาท คิดเป็น 75.89 ประกอบด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่ม 28,800 ล้านบาท ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ 14,000 ล้านบาท ภาษีสุราสรรพสามิต 4,900 ล้านบาท
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 13,000 ล้านบาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3,850 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา 4.8 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเล่นการพนัน 2 แสนบาท ค่าปรับผู้ละเมิดกฎหมาย 145 ล้านบาท
ส่วนที่กทม.จัดเก็บเอง 21,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.11 ประกอบด้วย ภาษีอากร 16,850 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับและค่าบริการ 2,500 ล้านบาท รายได้จากทรัพย์สิน 900 ล้านบาท รายได้จากการสาธารณูปโภค การพาณิชย์และกิจกรรมอื่น 50 ล้านบาท รายได้เบ็ดเตล็ด 1,400 ล้านบาท
ขณะที่รายจ่าย ประกอบด้วย งบบุคลากร 21,531.271 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 23.92 งบกลาง 18,668.578 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.74 รายการ/โครงการผูกพันงบประมาณ 18,485.214 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.54 แบ่งเป็น รายการ/โครงการผูกพันงบประมาณเดิม 18,165.871 ล้านบาท รายการ/โครงการผูกพันงบประมาณใหม่ 319.343 ล้านบาท
งบดำเนินงาน 16,861.552 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.74 งบอุดหนุน 4,905.031 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.45 งบลงทุน 4,859.864 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.40 และงบรายจ่ายอื่น 4,688.490 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.21