ประชุมวิป 3 ฝ่าย “ชวน” ชี้ การทำงานสภาไม่สะดุดเว้นแต่ยุบสภาก่อน เผย ญัตติม.152 ยื่น 14 พ.ย.นี้ ส่วนแก้รธน.ฉบับ “ธนาธร” เข้าปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และส.ว. อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 30 นาที
จากนั้น นายชวน กล่าวถึงผลการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อหารือวาระการประชุมของสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 พ.ย. – 28 ก.พ. ซึ่งในช่วง 120 วันต่อจากนี้ มีวันหยุดที่ตรงกับวันประชุมเพียงแค่วันที่ 16-18 พ.ย. เนื่องจากเป็นการประชุมเอเปค จากนั้นก็ประชุมตลอด เว้นแต่ยุบสภาเสียก่อน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โดยการประชุมสภาฯ มีเรื่องที่ค้างอยู่เป็นญัตติจำนวนมาก จึงได้หารือกับที่ประชุมว่าการประชุมในสัปดาห์นี้ จะขอเสนอญัตติ 2 เรื่อง และจะใช้เวลาพิจารณาทั้งวัน สำหรับการประชุมสัปดาห์ถัดไปจะเป็นการพิจารณาเรื่องเพื่อทราบ และได้ขอให้ประชุมเลิกค่ำหน่อย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาประชุมวันศุกร์บ่อยเกินไป นี่คือแนวการทำงานที่สภาสามารถทำได้ภายใน 120 วัน
นายชวน กล่าวต่อว่า ญัตติที่จะมีการเสนอประมาณกลางเดือนนี้ คือ ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยเบื้องต้นจะเป็นวันที่ 14 พ.ย. ส่วนจะพิจารณาวันไหนนั้น ตนได้ให้ไปหารือกันว่าแต่ละฝ่ายจะขอเวลาอภิปรายกี่วัน เพราะการอภิปรายครั้งนี้ แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงและให้ความเห็นได้ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติว่า แต่ละฝ่ายจะใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้นัดต่อไปว่าการอภิปรายจะเป็นช่วงใด คาดว่าน่าจะเป็นเดือนหน้า
นายชวน กล่าวอีกว่า ส่วนระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภามี 4 เรื่อง เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ… และการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งจะสามารถพิจารณาได้ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า
เมื่อถามว่า ได้กำชับหรือขอร้องสมาชิกให้ความร่วมมือ ไม่ให้มีการประชุมล่มอีกหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสมาชิกอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเตือน เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากก็ต้องนำเสียงมาให้ครบ และหน้าที่การประชุมสภาก็เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ข้อสังเกต คือ บางทีองค์ประชุมครบแต่ไม่กดแสดงตน จึงทำให้มีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่กำลังศึกษาว่า ในอนาคตควรมีการแก้ไขอย่างไร