“ชวน” เร่งจัดตารางหาเสียง ลุยขอคะแนนบัญชีรายชื่อ ปชป. เห็นใจ “บิ๊กตู่” ไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ ชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับคนไม่ได้ตั้งใจมาเป็นนักการเมืองตั้งแต่ต้น
เมื่อเวลา 12.55 น. วันที่ 29 มี.ค. 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการลงพื้นที่เพื่อช่วยหาเสียงให้กับพรรคว่า ตนเตรียมจะเดินทางไปหาเสียงทั่วประเทศ ตอนนี้ขอใช้เวลาในการจัดตารางอีกเล็กน้อย คาดว่าจะเริ่มตระเวนลงพื้นที่ได้หลังจากวันจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 4 เม.ย.นี้
นายชวน กล่าวต่อว่า ตนได้แจ้งกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ให้ทราบถึงแผนการหาเสียงของตนแล้ว และขอให้ช่วยเตรียมรถกระบะให้หนึ่งคัน เพื่อที่จะใช้ในการตระเวนลงพื้นที่ขอคะแนนเสียงในส่วนของบัญชีรายชื่อ โดยจะไม่ไปวุ่นวายกับผู้สมัครแบบแบ่งเขต ซึ่งในส่วนนั้นพรรคดูแลดีอยู่แล้ว แต่ตนจะไปขอให้ประชาชนช่วยกันเลือกผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่ตนจะได้เป็น ส.ส. ด้วย
เมื่อถามว่าในคณะที่จะไปลงพื้นที่จะมีใครร่วมออกตระเวนด้วยบ้าง นายชวน กล่าวว่า คงมีผู้ร่วมคณะกับตน 3-4 คน ขณะนี้กำลังดูอยู่ว่าจะมีใครมาร่วมบ้าง ส่วนวันเริ่มออกเดินทางนั้น ทางหัวหน้าพรรคได้ขอให้มาเริ่มต้นจากที่ทำการพรรค ซึ่งจะมีการปล่อยขบวนพร้อมกับขบวนอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีพรรคปชป. ยังยืนยันที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว คือนายจุรินทร์ นายชวน กล่าวว่า ปกติพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอชื่อเดียว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องถามทางพรรคดีกว่า
เมื่อถามกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะไม่ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ คิดว่าคนที่จะเป็นนายกฯ ควรที่จะต้องเป็นส.ส.หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก ในการมาทำงานการเมืองเต็มตัวเหมือนกับพวกตน
“ดังนั้น ผมจึงไม่อยากตำหนิ แต่เห็นใจทุกคน และรู้ว่าเวลาที่เขาตัดสินใจ ก็ต้องคิดมากเหมือนกัน และเขาคงมีคณะที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำว่าผลจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ผมเข้าใจและเห็นใจทุกคน แต่พวกเราเป็นคนที่ตัดสินใจมาตั้งแต่ต้นว่า มาเป็นนักการเมือง ต้องการมาทำงานการเมืองจริงๆ จึงไม่กลัวว่าจะแพ้หรือชนะ” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ ควรจะมาจากผู้ที่ประชาชนเลือกโดยตรงหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เขาถือโอกาสว่ากฎหมายไม่ได้บังคับ สมัยที่ตนเป็นนายกฯ ตอนนั้นกฎหมายบังคับว่าคนที่จะเป็นนายกฯ ต้องเป็นส.ส. ซึ่งตนเป็นนายกฯ 2 ครั้งก็เป็นนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าคงไม่สามารถเทียบมาตรฐานกันได้ เพราะแต่ละคนคิดในทางการเมืองต่างกัน และมีความตั้งใจว่าจะเข้ามาทำการเมืองเพื่ออะไร ทั้งนี้ ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่ถ้าเราดูจากตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็จะได้เห็นบางอย่าง
“สมมติถ้ารัฐบาลไม่มีคนที่เป็นหลัก เราก็จะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ซึ่งผมเคยพูดไว้หลายครั้งว่า เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมานายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. รวมถึงพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้อยู่ในสภาฯ ดังนั้น เวลาที่เกิดปัญหาองค์ประชุมก็ไม่รู้จะถามใคร ผมเห็นใจคนที่มาทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเสียง เพราะเวลาที่เขาไปขอร้อง ส.ส. ก็มีส.ส. หลายคนที่ไม่ค่อยเกรงใจเขา” นายชวน กล่าว