รู้หรือไม่ว่าแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่น่าจะถูกใจคนที่รักในศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ตลอดจนคนที่ชื่นชอบความสงบในการเดินชมนิทรรศการ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลชาวกรุงเทพฯ เลย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) สถานที่แห่งนี้อาจจะไม่ได้ถูกจริตกับรสนิยมการเที่ยวของใครหลายคน แต่บอกเลยว่าเป็นสถานที่ที่เดินเข้าไปแล้ว ให้อะไรกับเรามากกว่าที่คิด หอศิลป์ที่ไม่ได้มีแค่งานศิลปะให้ชื่นชม แต่ยังเป็นที่ที่รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ที่ให้ทั้งความรู้ที่เป็นรูปธรรม และความจรรโลงใจแบบนามธรรม ลึกซึ้งในด้านของความรู้สึก
แม้จะมีหลายคนทีเดียวแหละ ที่ไม่เคยคิดจะเดินเข้าหอศิลป์เลยในชีวิตนี้ เพราะคิดว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา ไม่มีสิ่งที่เราสนใจ แต่อยากให้ลองเปิดใจให้กว้าง ลองเดินเข้าไปเที่ยว ไปศึกษาอะไรต่าง ๆ ที่อยู่ภายในดูก่อน ไม่แน่ว่าสถานที่นี้อาจให้ประสบการณ์บางอย่างที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ ในบทความนี้ Tonkit360 จึงจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และอยากจะชวนทุกท่านเที่ยวหอศิลปกรุงเทพฯ แห่งนี้ในวันว่าง ๆ ว่าในช่วงนี้มีนิทรรศการอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ทำความรู้จักหอศิลปกรุงเทพฯ
กว่าที่คนกรุงเทพฯ จะมีหอศิลปฯ คุณภาพแบบนี้ใจกลางกรุง บอกเลยว่าไม่ได้ได้มาง่าย ๆ เนื่องจากนโยบายภาครัฐในอดีตยังไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจัง และยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การมีอยู่ของหอศิลป์ จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของศิลปะและความสวยงามในสังคมได้
นับตั้งแต่นั้นมา จึงเกิดมีแนวคิดที่จะสร้างหอศิลป์ขึ้นมา โดยมีแนวร่วมจากศิลปินไทยสนับสนุนการสร้างหอศิลปะร่วมสมัย เพื่อให้มีหอศิลป์ที่ทัดเทียมกับสากลและเป็นเกียรติศักดิ์ศรีกับประเทศ รวมทั้งเพื่อให้สังคมมีแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม เป็นทางเลือกเพื่อจรรโลงยกระดับจิตใจ ควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ดังนั้น หอศิลป์สำหรับประชาชนจึงควรเป็นการลงทุนจากภาครัฐโดยไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ เป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเช่นเดียวกับการสร้างสาธารณูปโภคอื่น ๆ สามารถศึกษาไทม์ไลน์สำคัญของหอศิลปกรุงเทพฯ ได้จากลำดับเหตุการณ์สำคัญของหอศิลปกรุงเทพฯ และความเป็นมาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นสำหรับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือ สถาปัตยกรรม ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกจากสำนักงานออกแบบโรเบิร์ต จี บุย แอนอด์ แอสโซซิเอทส์ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 25,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นห้องแสดงผลงาน โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ห้องเก็บรักษาผลงาน ห้องประชุม ร้านค้า และร้านอาหาร ตั้งแต่ชั้นที่ 6 เป็นต้นไป จะมีทางเดินลาดเอียงเลาะขึ้นไปตามชั้นต่าง ๆ ในรูปทรงกระบอกของอาคาร และมีการนำแสงธรรมชาติในการจัดแสดงงาน ที่คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ โดยมี 4 แนวคิดหลักในการนำมาออกแบบซึ่งทุกคนจะสังเกตได้เมื่อเข้าไปชมในหอศิลปฯ คือ
อาคารมีความยืดหยุ่นในการใช้สอยและเอื้อต่อการปรับเปลี่ยน เพื่อให้การจัดแสดงงานศิลปะเป็นไปอย่างอิสระ ภายในพื้นที่หลากหลายซึ่งมี แสง ขนาด และลักษณะแตกต่างกัน
อาคารมีคุณลักษณะเหมาะสมและอิงรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เป็นตัวแทนอันสำคัญของวัฒนธรรมไทย มีความน่าตื่นเต้น เชื้อเชิญ ตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอย และต้องสะท้อนความเคลื่อนไหวของศิลปะไทยร่วมสมัย
ออกแบบให้มีพื้นที่ภายในสูง เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงงานศิลปะ นอกจากนี้พื้นที่ใจกลางอาคารแสดงถึงเอกลักษณ์ของอาคาร ซึ่งเป็นตัวกำหนดภาพรวมของงานตกแต่งภายในทั้งหมด
ภายในอาคารโดยเฉพาะห้องแสดงนิทรรศการ จะใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ แสงนั้นต้องได้รับการควบคุม โดยชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องแสดงงานศิลปะได้รับการออกแบบให้ตอบสนองและพัฒนาแนวความคิดนี้ให้เป็นรูปธรรม
สำหรับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 10.00-20.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์) เข้าได้ฟรี ไม่เก็บค่าเข้าชม
ชั้นไหนมีอะไรบ้าง
ภายในตัวอาคาร 9 ชั้น (และชั้นใต้ดิน) ที่ถูกออกแบบให้เป็นทรงกระบอก ทำให้มีจุดเด่นคือผนังโค้ง ที่ใช้สำหรับจัดแสดงงานจิตรกรรม ภาพถ่าย หรืองานติดตั้งที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ในทุก ๆ ชั้นจะมีการใช้พื้นที่ดังนี้
ชั้น B1, B2 เป็นที่จอดรถสำหรับผู้มาใช้บริการ ชั้น B1 จอดได้ 56 คันและชั้น B2 จอดได้ 62 คัน
ชั้น L มีโถงหน้าห้องสมุด ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งที่สามารถใช้จัดนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ และห้องสมุดศิลปะ ที่เปิดให้เข้าฟรี ภายในเต็มไปด้วยหนังสือที่เกี่ยวกับศิลปะ ที่นี่เป็นห้องสมุดลับที่มีผู้ใช้บริการน้อย มีบรรยากาศที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เนื่องจากเปิดรับแสงสว่างจากภายนอก ความพิเศษคือเงียบสงบมาก ๆ มีโต๊ะ เก้าอี้ ปลั๊กไฟ สำหรับใครที่อยากได้มุมสงบ ๆ สำหรับนั่งทำงาน หรือถ้าจะเข้ามานั่งอ่านหนังสือเฉย ๆ ก็ได้ มีโซนคอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้นข้อมูลผ่านออนไลน์ พร้อมด้วย Kid’s Corner สำหรับเด็ก ๆ อายุไม่เกิน 12 ปี (พร้อมผู้ปกครอง) นอกจากนี้ หนังสือของที่นี่ยังสามารถยืมออกได้ด้วย สนใจหนังสือเล่มไหน สามารถสอบถามกับบรรณารักษ์ที่เคาน์เตอร์ได้เลย
ชั้น 1 เป็นโถงนิทรรศการ ห้องอเนกประสงค์ (รองรับกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ งานจัดเลี้ยง งานแถลงข่าว การประชุม บรรยาย ฯลฯ จุคนประมาณ 250-300 คน) จุดประชาสัมพันธ์ และร้านค้า ArtHUB ด้านนอก มีลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นลานอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ที่เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง อาทิ คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ และอื่น ๆ
ชั้น 2 เป็นห้อง People’s Gallery ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งใหม่ที่รองรับการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยหลากหลายสาขา สำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่มีไฟอยากแสดงออกผลงานของตนเอง จึงเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะ จัดการแสดง และกิจกรรมด้านศิลปะอื่น ๆ มีจำนวนทั้งหมด 3 ห้อง และร้านค้า ArtHUB
ชั้น 3 มีผนังโค้งนิทรรศการ ห้องนิทรรศการ ร้านค้า ArtHUB และ Skywalk ที่เชื่อมกับรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ และศูนย์การค้ามาบุญครองที่อยู่ตรงข้ามกัน
ชั้น 4 มีผนังโค้งนิทรรศการ ห้องสตูดิโอ (พื้นที่อิสระสำหรับกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะงานละคร ดนตรี หรือกิจกรรมแนวทดลอง ทางศิลปะ ศิลปะการแสดงสด ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ รองรับจำนวนคนได้ 150 -200 คน) ห้องประชุมขนาดเล็ก และร้านค้า ArtHUB
ชั้น 5 มีผนังโค้งนิทรรศการ ห้องออดิทอเรียม (ขนาด 220 ที่นั่ง ใช้สำหรับกิจกรรมการประชุม บรรยาย สัมมนา แสดงละคร ดนตรี ตลอดจนฉายภาพยนตร์) ห้องประชุมขนาดเล็ก เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ และ bacc shop ร้านขายที่ระลึกของหอศิลป์ฯ
ชั้น 6 เป็นห้อง Friends of bacc (เป็นห้องเวิร์กชอปขนาดกลาง เหมาะสำหรับจัดเวิร์กชอป งานประชุม หรือสัมมนาขนาดเล็ก และซ้อมการแสดง) อีกส่วนจะเป็นสำนักงานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ชั้น 7-9 เป็นชั้นนิทรรศการหลัก สำหรับจัดงานนิทรรศการขนาดใหญ่ มีพื้นที่แสดงศิลปะกว่า 3,500 ตารางเมตร
มีอะไรที่น่าสนใจในหอศิลปกรุงเทพฯ
จะไปเที่ยวหอศิลป์ เราก็ต้องคาดหวังที่จะได้เดินดูงานศิลปะหรือนิทรรศการศิลปะถูกไหม มาดูกันว่าในช่วงนี้หอศิลป์มีนิทรรศการศิลปะอะไรที่น่าสนใจบ้าง และแต่ละนิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันไหน
ArtHUB@bacc เป็นโซนร้านค้าในหอศิลปกรุงเทพฯ พื้นที่ขายของเทรนด์ใหม่กลางใจเมืองสุดชิคที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้ที่ชื่นชอบในผลงานศิลป์แบบครบจบในที่เดียว ทั้งดูงานศิลป์ กิน ชอป ซึ่งร้านค้า ArtHUB ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของหอศิลปกรุงเทพฯ จำนวนรวมกว่า 30 ร้านค้า มีความหลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์และสไตส์การตกแต่ง ภายใต้คอนเซปต์ที่เน้นความเป็นศิลปะ สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบของสินค้า เครื่องประดับตกแต่ง ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม
โถงหน้าห้องสมุดและโถงนิทรรศการชั้น 1 นิทรรศการผ้าไหมไทย MUD TOR JAI : Premium Thai Silk จัดแสดงระหว่างวันที่ 05 ก.ย. – 17 ก.ย. 2566
ห้อง People’s Gallery ชั้น 2 นิทรรศการ GRADIENT ภายใต้การรวมตัวของกลุ่ม “RED LAB” จัดแสดงระหว่างวันที่ 01 ก.ย. – 01 ต.ค. 2566
ผนังโค้งชั้น 3 แซ่ดสีน้ำ 2566 จัดแสดงระหว่างวันที่ 05 ก.ย. – 01 ต.ค. 2566 ห้องนิทรรศการ “Spectrum Light Romance” โดยศิลปิน ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร จัดแสดงระหว่างวันที่ 29 ส.ค. – 24 ก.ย. 2566
ผนังโค้งชั้น 4 “Bodymaps for Healing: เยียวยาฟื้นฟูสู่สันติภาพชายแดนใต้” จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 ก.ย. – 17 ก.ย. 2566 ห้องสตูดิโอ P.A.P: Performative Art Project #12 “โครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 12” จัดแสดงระหว่างวันที่ 26 ส.ค. – 17 ธ.ค. 2566
ผนังโค้งชั้น 5 โครงการ 4th + Thailand Art and Design Exhibition การแสดงผลงานศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 plus ประจำปี 2566 จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 ก.ย. – 1 ต.ค. 2566
ชั้น 7 นิทรรศการหลัก “นิทรรศการภาพถ่ายสงครามของเจมส์ นาคท์เวย์” (James Nachtwey: Memoria Exhibition) จัดแสดงระหว่างวันที่ 05 ก.ย. – 26 พ.ย. 2566
ชั้น 8 นิทรรศการหลัก “วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง” (Womanifesto) จัดแสดงระหว่างวันที่ 12 ก.ย. – 30 ธ.ค. 2566
ชั้น 9 นิทรรศการหลัก “สูงวัย…ขยาย (ความ)” (Blowing Up The Tale of Ageing Society) จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 ส.ค. – 26 พ.ย. 2566
ระเบียบการเข้าชมหอศิลปกรุงเทพฯ ที่ต้องปฏิบัติตาม
ปกติแล้ว หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เกือบทุกแห่งจะมีระเบียบการเข้าสถานที่ที่คล้ายคลึงกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และรักษาผลงานที่จัดแสดง สำหรับระเบียบการเข้าชมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
ควรศึกษาและปฏิบัติตามระเบียบการถ่ายภาพของแต่ละนิทรรศการ
ในบางนิทรรศการไม่อนุญาตให้มีการถ่ายภาพ ต้องปฏิบัติตามกฎ แต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ งดใช้แฟลช ขาตั้งกล้อง และไม้เซลฟี
“ไม่” ถ่ายภาพเคลื่อนไหว
“ไม่” ถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
หากมีสัมภาระขนาดใหญ่ ไม่อนุญาตให้นำสัมภาระเข้านิทรรศการ ต้องฝากสัมภาระ กระเป๋าเป้สะพายหลัง กระเป๋าเดินทาง หรือร่ม ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ชั้น 5 ก่อนที่จะเข้าห้องนิทรรศการหลักชั้น 7-9
“ไม่” จับต้องผลงานศิลปะทุกชิ้น
“ไม่” นำอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมารับประทานในบริเวณนิทรรศการ
“ไม่” ส่งเสียงดังระหว่างชมนิทรรศการ
สุนัขนำทางผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าภายในอาคารได้
“งด” ทำกิจกรรมขององค์กรในระหว่างชมนิทรรศการ (เข้าชมเป็นหมู่คณะ) เช่น walk rally, team building และอื่น ๆ
วิธีเดินทางไปหอศิลปกรุงเทพฯ
การเดินทางไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนั้นค่อนข้างง่ายและเดินทางมาถึงได้หลากหลายวิธี เพราะอยู่บริเวณหัวมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสี่แยกปทุมวัน สำหรับวิธีการเดินทางมายังหอศิลปกรุงเทพฯ มีดังนี้
โดย BTS นั่ง BTS สายสีลมมาลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ใช้ทางออกที่ 3 เพื่อเดินตรงมายังหอศิลปฯ ได้เลย ออกมาจากทางออกนิดเดียว ตัวหอศิลปฯ จะอยู่ด้านซ้ายมือ มีลักษณะเป็นทางเชื่อมเข้าสู่ชั้นที่ 3 ของหอศิลปฯ
โดยเรือ สามารถนั่งเรือคลองแสนแสบ เส้นทางสะพานผ่านฟ้า-ประตูน้ำ มาลงที่ท่าเรือสะพานหัวช้าง เดินเลียบถนนพญาไทมาประมาณ 350 เมตรก็จะถึงหอศิลปฯ (ก่อนถึงสี่แยกปทุมวัน)
โดยรถประจำทาง มีรถประจำทางทั้งหมด 22 สายที่ผ่านบริเวณหน้าหอศิลปฯ ได้แก่ สาย 15, 16, 21, 25, 29, 34, 36, 40, 47, 48, 50, 54, 73, 73ก, 79, 93, 141, 159, 204, 501, 508 และ 529
โดยรถยนต์ส่วนตัว เดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ
เส้นทางถนนพญาไท (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ข้ามสะพานหัวช้าง ชิดขวาเข้า ทางเข้าหอศิลปฯ (ด้านหลังอาคาร ก่อนถึงสี่แยกปทุมวัน)
เส้นทางถนนพระราม 1 (จากสนามกีฬาแห่งชาติ) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท และเลี้ยวซ้าย เข้าทางเข้าหอศิลปฯ
หอศิลปฯ มีทางเข้าสำหรับรถยนต์ด้านเดียว คือ ถนนพญาไท มีที่จอดรถให้บริการที่ชั้นใต้ดิน