ชวนรู้จัก’พยาธิปอดหนู’ ทานสุก ๆ ดิบ ๆ เกิดโรคมากกว่าที่คิด เสี่ยงปวดท้อง ตาบอด อันตรายถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเสียชีวิต
จากกระแสไวรัลในโลกโซเรียลที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนักถึงอันตรายจากการทานอาหาร หลังแฟนเพจเฟซบุ๊ก InsidePitlok แชร์โพสต์พยาธิปอดหนูขึ้นตาข้าราชการสาวจนตาบอด 1 ข้าง ทางทีมข่าวสดจะขอเสนอวงจรชีวิตของพยาธิปอดหนู อาหารที่ทำให้เกิดโรค อาการของโรค และการตรวจวินิจฉัย
อับดุลฮากัม ดูมีแดและอภิชาติ วิทย์ตะ ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยแพร่บทความวิชาการเรื่อง พยาธิปอดหนูและโฮสต์ตัวกลางในธรรมชาติ
ระบุ พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) เป็นพยาธิตัวกลมในสกุล Angiostrongylus ซึ่งตัวเต็มวัยที่แบ่งออกเป็น 2 เพศ ได้แก่ เพศผู้และเพศเมีย รายงานพบครั้งแรกในค.ศ. 1935 จากเส้นเลือดปอดหนูที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งมีการรายงานจํานวนผู้ติดเชื้อพยาธิปอดหนูโลกมากกว่า 2,827 ราย รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ป่วยมากถึง 1,337 ราย โดยพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2503 ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์วินิจฉัยมีสาเหตุมาจากการรับประทานหอยโข่ง
ปัจจุบันสามารถพบพยาธิปอดหนูได้ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก วงจรชีวิตของพยาธิปอดหนู มีหอยเป็นโฮสต์ตัวกลางและหนูเป็นโฮสต์จําเพาะ โดยตัวอ่อนพยาธิปอดหนูพบได้ในเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงปอดหรือหัวใจซีกขวาของหนูที่เป็นโฮสต์จําเพาะ พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู ซึ่งสามารถไชสู่หอย จากนั้นพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 ที่เป็นระยะติดต่อ
อาหารที่ทำให้เกิดโรคพยาธิปอดหนู
มนุษย์สามารถได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อจากการทานหอยชนิดต่าง ๆ แบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งหอยน้ำจืด หอยบก ทาก รวมไปถึงพาราเทนิก เช่น กบ, คางคก, ลูกอ๊อด, กุ้งน้ำจืด, ปลาน้ำจืด และตะกวด เป็นต้น นอกจากนี้ การทานผักสดหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนระยะติดต่อก็สามารถทําให้ติดพยาธิปอดหนูได้
อัตราการติดเชื้อของพยาธิปอดหนูในหอยเชอรี่ในไต้หวันมีอัตรา 21 % จีน 42 – 69 % และเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น 10 – 39% ในประเทศไทยพบว่ามีการนําหอยโข่งมาปรุงเป็นอาหารท้องถิ่นจึงทําให้เกิดการติดเชื้อพยาธิปอดหนู อย่างไรก็ตาม หอยโข่งถือเป็นโฮสต์ตัวกลางที่ไม่เอื้อต่อการอาศัยของตัวอ่อนพยาธิปอดหนูและปริมาณหอยโข่งที่ติดเชื้อพยาธิปอดหนูมีอัตราที่ต่ํากว่าอัตราการติดเชื้อจากการกินหอยเชอรี่ และล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 มีรายงานหอยทากสยาม(Cryptozona siamensis) เป็นโฮสต์ตัวกลางของพยาธิปอดหนูได้ทั้ง 2 ชนิด คือ A. cantonensis และ A. malaysiensis
อาการของโรคและการตรวจวินิจฉัย
พยาธิปอดหนูทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7 – 30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ , ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก, คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา นอกจากนี้ ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้
อาการความรุนแรงของโรคมากน้อยขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไปและการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน (definitive diagnosis) ของโรคพยาธิปอดหนูในคน คือ การตรวจพบพยาธิที่ตา แต่สามารถทําได้น้อยราย วิธีการตรวจ วินิจฉัยที่สามารถทําได้ คือ การซักประวัติ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา
การรักษา ปัจจุบันยังไม่มียาที่มีความจําเพาะในการรักษาโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู สําหรับผู้ป่วยที่
มีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไ,ส้ อาเจียน การให้ยาแก้ปวดก็สามารถที่จะระงับอาการของโรคได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบรักษาด้วยยา prednisolone
ขอบคุณที่มาจาก บทความวิชาการ พยาธิปอดหนูและโฮสต์ตัวกลางในธรรมชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สยอง! กินกุ้งแช่น้ำปลาประจำ พยาธิปอดหนู ขึ้นตาข้าราชการสาว ตาบอด