ชวนชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ สายธารจากเศษฝุ่นดาวหางฮัลเลย์ 21-22 ต.ค.66

Home » ชวนชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ สายธารจากเศษฝุ่นดาวหางฮัลเลย์ 21-22 ต.ค.66

ชวนชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ สายธารจากเศษฝุ่นดาวหางฮัลเลย์ 21-22 ต.ค.66

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” คืน 21 ต.ค. ถึงรุ่งเช้า 22 ต.ค. 66 เวลาประมาณ 22.30 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก คาดปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวอาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย แนะจุดชมให้อยู่ในที่มืดสนิทและห่างจากเมือง หากปลอดฝนชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม -7 พฤศจิกายน ของทุกปี มีอัตราการตกสูงสุดในคืน 21 – 22 ตุลาคม 2566 คาดมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่ใกล้กลุ่มดาวนายพราน ทางทิศตะวันออก สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมความสวยงามของดาวตกโอไรออนิดส์ได้ทั่วประเทศ

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเหล่านั้นเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

ดาวหางฮัลเลย์ มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก 76 ปี โคจรเข้ามาเฉียดดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อปีเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 และจากการคำนวณคาดว่า ครั้งถัดไปดาวหางจะเฉียดดวงอาทิตย์ในช่วงกลางปี พ.ศ.2604 เท่ากับในอีก 38 ปีข้างหน้า ดาวหางที่สวยงามและสว่างที่สุดจะกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าให้โลกได้ชื่นชมกันอีกครั้ง

ข้อมูลจากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ในทุกครั้งที่ดาวหางนี้เคลื่อนที่เข้ามา รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปจนมีขนาดเล็กลง 1-3 เมตร ในแต่ละรอบที่เข้าใกล้โลก จนสุดท้ายเมื่อมวลสารส่วนที่เป็นน้ำแข็งสลายตัวจนหมดไป ดาวหางฮัลเลย์ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต กลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์ 

ดาวหางฮัลเลย์ ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่คำนวณ และค้นพบโดย เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ