ชนะ 3 แพ้ 238 : โชนันซากุระ นักซูโม่ที่ทำให้คนต้องถามว่า "ทนสู้เพื่ออะไร ?"

Home » ชนะ 3 แพ้ 238 : โชนันซากุระ นักซูโม่ที่ทำให้คนต้องถามว่า "ทนสู้เพื่ออะไร ?"

ไม่มีนักกีฬาคนไหนที่เกิดมาอยากเป็นผู้แพ้ ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามแลกทุกสิ่งที่มีเพื่อให้ได้ลิ้มรสกับชัยชนะ

แต่ถ้าบางคนพยายามแล้วพยายามอีกแต่ก็ยังไม่ชนะล่ะ ? เขาควรจะลองใหม่อีกสักกี่ครั้ง ?

นี่คือเรื่องราวของ โชนันซากุระ นักซูโม่ที่ถูกมองว่าเป็นความอับอายของวงการ ทว่าในวันที่เขาประกาศเลิกเป็นนักซูโม่ ผู้คนกลับบอกว่าเขายิ่งใหญ่เหลือเกิน 

 

เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

ฝัน … อันคร่ำครึของ โชตะ ฮัตโตริ

ซูโม่ ไม่ใช่แค่กีฬาแค่เอาคนตัวใหญ่สองคนขึ้นมาบนเวทีและผลักกันให้หลุดจากวงกลมอย่างที่ใครเข้าใจ เพราะนี่คือสุดยอดการแข่งขันที่สืบทอดกันมาเป็นพัน ๆ ปี

นักสู้ที่ได้ขึ้นสังเวียนนี้เปรียบดั่งนักรบที่หลุดมาจากยุคอดีต เวทีของพวกเขาไม่ใช่แค่เอาเชือกมาล้อมให้เป็นวงกลม แต่คือหนึ่งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมต่อกับความเชื่อทางศาสนา และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ต่อให้ ซูโม่ เป็นกีฬาที่ไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศเท่า เบสบอล หรือ ฟุตบอล ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถดึงดูดใครบางคนที่เติบโตมากับความเชื่อ และยังคงยึดมั่นว่า ซูโม่ คือ เกียรติของการเป็นนักสู้ มันไม่ใช่แค่ก่ีเป็นนักกีฬาทั่วไป และ โชตะ ฮัตโตริ คือหนึ่งในเด็กญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นในสิ่งนั้น ในขณะที่ความนิยมของเด็กรุ่นเดียวกันไหลไปตามกระแสของโลกยุคใหม่ 

 

นี่คือทางเลือกที่กล้าหาญมากสำหรับใครที่คิดจะมาเดินบนเส้นทางนี้และเอาจริงเอาจังกับมัน เพราะกว่าะจะได้เป็นนักซูโม่ ต้องผ่านพิธีการอะไรหลายอย่างที่กินเวลาหลายปี และมีด่านทดสอบหลายด่านเหลือเกิน หากเปรียบเทียบให้เป็นภาพ มันก็เหมือนกับระบบโซตัสที่รุ่นพี่ถูกทุกอย่าง และรุ่นน้องต้องฟังทุกสิ่งที่รุ่นพี่สั่ง 

ฮัตโตริ เข้าสู่ “เฮยะ” หรือเปรียบได้กับต้นสังกัดทีมซูโม่ตอนอายุ 15 ปี ในเฮยะที่มีชื่อว่า “ชิกิฮิเดะ” ในจังหวัดอิบารากิ ช่วงเวลาหลังจากการเป็นน้องใหม่นั้นแสนยากลำบาก แม้หลายคนจะคิดว่าระบบโซตัสและการนับถือกันแบบรุ่นพี่รุ่นน้องคือเรื่องโบราณคร่ำครึ แต่สำหรับคนในวงการซูโม่ พวกเขาเชื่ออีกแบบ มันคือวิธีคัดคนจริงเท่านั้น เพราะ ซูโม่ ไม่เหมือนกับโรงเรียนเตรียมทหาร ไม่มีการบังคับให้เข้ามา ใครทนไม่ไหว ไม่อยากอยู่ และออกนอกกรอบของวัฒนธรรมซูโม่ คุณก็แค่ยกธงขาวยอมแพ้และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้สบาย ๆ แต่ถ้าคุณเลือกแล้ว และอยากเป็นนักซูโม่จริง ๆ คุณก็ต้องผ่านด่านสุดทรหดให้ได้ 

กิจวัตรที่ว่าโหดหินนอกจากระบบอาวุโสแล้ว นักซูโม่จะเริ่มตั้งแต่ตี 5-6 โมง ที่ต้องตื่นมาฝึกซ้อมในตอนเช้า และจะได้รับประทานอาหารมื้อแรกของวันในตอนเที่ยงวัน ที่ส่วนใหญ่เป็นหม้อไฟที่เต็มไปด้วยผักที่เรียกว่า “จังโกะนาเบะ” จากนั้นจะเข้านอนในตอนบ่าย และตื่นขึ้นมาทำความสะอาดและฝึกซ้อมในช่วงเย็น ก่อนจะปิดท้ายด้วยการรับประทานอาหารเย็น และเข้านอนก่อนสามทุ่ม 

ยังไม่จบ … ที่กล่าวมาคือวิธีการเป็นนักซูโม่ที่ดีเท่านั้น แต่การเป็นนักซูโม่ที่สมบูรณ์แบบคือ พวกเขามีกรอบการวางตัวในการเข้าสังคม มีกฎยิบย่อยมากมายที่นักซูโม่ต้องจำให้แม่น และหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร เช่น ห้ามนักซูโม่ขับรถเอง, พวกเขาต้องเข้มงวดกับการแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมือง, ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ, ห้ามมีแฟน,  ห้ามตัดผม ต้องไว้ผมยาวเพื่อใช้มัดตอนขึ้นสู้, สระผมได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง, ห้ามประพฤติตัวตามสบายในที่สาธารณะ นักซูโม่ต้องสงบนิ่ง, พูดให้น้อย และพูดให้เบาที่สุด

 

นี่คือชีวิตที่โดนตีกรอบทุกด้าน แต่สุดท้าย ฮัตโตริ ก็เลือกเส้นทางนี้โดยไม่มีเปลี่ยนแปลง เขาทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ผ่านช่วงการเป็นน้องใหม่และไต่ระดับ (ซูโม่ นั้นมี 6 ระดับ ระดับสูงสุดคือ โยโกะสึนะ เปรียบได้กับ แชมป์โลก) ด้วยความพยายามอย่างมาก เพราะในช่วงระดับแรก ๆ นั้น ไม่มีเงินเดือนให้  เงื่อนไขที่จะพ้นจากข้อจำกัดนี้คือเอาชนะคู่แข่งให้มากกว่าแพ้เพื่อเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 6 ขึ้นไปดิวิชั่น 2 โดยเร็วที่สุด ซึ่งคำว่าเร็วที่สุดนี้ก็หมายถึงระยะเวลา 3 ปี เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ โลกของ ซูโม่ ที่แท้จริงก็จะเปิดประตูต้อนรับพวกเขา


Photo : asahi.com

ตัวของ ฮัตโตริ นั้น ใช้เวลา 4 ปี จนไต่ไปถึงระดับของนักซูโม่ที่ได้แข่งขันตามทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ และมีเงินเดือนให้ เมื่อถึงในระดับที่พอมีชื่อเสียง เขาเปลี่ยนชื่อจาก ฮัตโตริ เป็นฉายาในการต่อสู้ว่า “โชนันซากุระ (Shonanzakura)” และไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตามชื่อนี้กลายเป็นชื่อที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาและมีผู้คนจดจำได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ดังไกลไปถึงต่างประเทศด้วย

ติดอย่างเดียว เพราะเหตุผลที่ทำให้เขาดังไม่ได้มาจากชัยชนะ … แต่มันคือความพ่ายแพ้ ที่กลายเป็นความทรงจำที่น่าอับอายของนักสู้

โชนันซากุระ ตัวตลกของวงการ 

โชนันซากุระ ผ่านระดับสมัครเล่นมาได้ นั่นก็หมายความว่าเขาน่าจะผ่านการเอาชนะคู่แข่งมาไม่น้อย ทว่าในการแข่งขันระดับสูงขึ้น สิ่งที่น่าแปลกคือเขาเป็นนักซูโม่ที่ไม่มีวี่แววจะเอาชนะใครได้เลย หลังจากการเดบิวต์ในปี 2015 โชนันซากุระ สามารถเอาชนะได้แค่ 3 ครั้ง และอีกมากกว่า 116 ของเขาคือการแข่งขันที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็นทัวร์นาเมนต์การแข่งขันไหน สนามใด ปีอะไร ไม่สำคัญ ชื่อของ โชนันซากุระ ถูกจดจำในหมู่คนดูกีฬาซูโม่ และบอกว่าเขาเป็นตัวตลกและความน่าอับอายของวงการ 


Photo : asahi.com

กระทู้ในหมวดหมู่มวยปล้ำและซูโม่ในเว็บไซต์ Reddit.com มีการพูดถึงเขาไปในทิศทางที่แย่มาเสมอ แฟนมวยปล้ำที่พูดคุยกันในฟอรัมนั้นต่างก็คิดว่าสาเหตุที่ โชนันซากุระ แพ้แล้วแพ้อีก เป็นเพราะความพยายามที่น้อยเกินไป … ว่าง่าย ๆ คือเขาไม่ได้มีความอยากชนะ เขาแค่อยากแข่งแล้วรับเงินเดือนไปวัน ๆ ได้อยู่ในเฮยะที่มีข้าวกินมีรุ่นน้องคอยปรนนิบัติไปวัน ๆ มากกว่า 

“เห็นได้ชัดว่าหมอนี่ไม่มีความพยายามเลย เขาอยากจะแพ้การแข่งขันอยู่แล้ว คนอย่างเขาไม่ควรได้รับความเคารพด้วยซ้ำ เขาไม่เคารพอาชีพนี้ ดังนั้นผมคิดว่าเขาไม่สมควรได้เดินขึ้นเวทีในฐานะนักซูโม่เลยแม้แต่น้อย”  นี่คือหนึ่งในคอมเมนต์ที่พูดถึงเขาในแง่ลบ แต่ความจริงมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?

มันคงแปลกดีที่คนที่พยายามรักษากฎของการเป็นนักซูโม่ และพยายามไต่เต้าแทบตาย ใช้เวลาต่อสู้ถึง 6 ปี เพื่อมาถึงจุดที่นักซูโม่หลายคนต้องการ แต่เขากลับไม่อยากชนะ ไม่อยากไปที่จุดสูงสุด ถ้าเขาแค่อยากได้รับสวัสดิการจากการเป็นรุ่นพี่ เขายอมทนความลำบากขนาดนั้นได้จริงหรือ

 

คำตอบคือไม่ใช่หรอก ในกลุ่มครูฝึกของเฮยะ (ศูนย์ฝึก) ชิกิฮิเดะ พวกเขาให้ความเคารพต่อการอุทิศตนของ โชนันซากุระ เสมอ เพียงแต่ว่า ซูโม่ ก็เหมือนกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ที่บางครั้งคนเราไม่สามารถใช้แค่ความพยายามอย่างเดียวได้ มันต้องมีสรีระทางร่างกาย ทักษะ และพรสวรรค์ประกอบด้วยจึงจะกลายเป็นผู้ยอดยุทธ์ของวงการนั้น ๆ ซึ่ง โชนันซากุระ ประสบปัญหานี้มาตั้งแต่วันแรกแล้ว 


Photo : asahi.com

“ตอนเขามาหาผมเมื่อปี 2015 และบอกกับผมว่าอยากจะเป็นนักซูโม่ ผมรู้สึกประหลาดใจมากนะ ผมถามเขาก่อนว่าไอหนุ่ม แกขออนุญาตจากพ่อแม่หรือยัง เขารีบโทรบอกพ่อแม่เขาทันที พ่อแม่เขาไม่อนุญาตและมาลากคอเขากลับบ้านภายใน 30 นาที” ชิกิฮิเดะ โอยากาตะ ครูฝึกของศูนย์ เล่าถึงวินาทีแรกที่เขาเจอกับ ฮัตโตริ ที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า โชนันซากุระ 

พ่อแม่เขาไม่สนับสนุนมาตั้งแต่แรก เขาจึงเริ่มช้ากว่าคนอื่น ๆ แต่หลังจากโดนลากคอกลับมาไม่นาน ฮัตโตริ ก็กลับมาที่ศูนย์ฝึกอีกครั้งเพื่อยืนยันความตั้งใจเดิม การเริ่มช้าเป็นสิ่งสำคัญ นักซูโม่ส่วนใหญ่จะถูกสอนให้อยู่กับวัฒนธรรมนี้มาตั้งแต่เด็ก การกิน การนอน การใช้ชีวิต มันทำให้พวกเขามีน้ำหนักตัวมากขึ้นกว่าปกติ ขณะที่ ฮัตโตริ เป็นเด็กหนุ่มธรรมดา ๆ ตัวผอมแห้งและยากจะสู้ใครได้ 

“เขาสูง 180 เซนติเมตร แต่หนักไม่ถึง 70 กิโลกรัม เขาถือว่าว่าเป็นคนที่ผอมมาก ไม่มีประสบการณ์ด้านซูโม่มาก่อนเลยด้วย นอกจากความตั้งใจแล้ว ผมต้องบอกตรง ๆ ว่าผมคิดว่าคนอย่างเขาไม่มีทางเป็นนักซูโม่ได้ ผมคิดแบบนั้นและบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขาในอนาคตไปตรง ๆ ‘ไอหนู ฉันไม่ได้จะปรามาสแก แต่หลายสิ่งทำให้ฉันมั่นใจว่าแกจะไปได้ไม่สวยในวงการนี้ และแทบจะหาทางเอาชนะนักซูโม่ที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเคี่ยวเข็ญอย่างไร … แกกลับบ้านไปเถอะ ผมไล่เขากลับบ้านอีกครั้ง พยายามดึงเขากลับสู่โลกแห่งความจริงอีกหน” อาจารย์ของเขาเล่า 

ทว่า ฮัตโตริ ในวัย 15 ปีทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เขาตอบกลับกับว่าที่อาจารย์ของเขาว่า “ผมสัญญาว่าจะฝึกเต็มที่ และผมจะทำเท่าที่ผมสามารถทำได้” คำตอบนี้มันแสดงถึงความใจสู้ จากนั้นอาจารย์ของเขาก็เปิดประตูต้อนรับโลกที่ไม่เหมาะกับเขาเลยสักนิด  


Photo : nikkansports.com

เห็นได้ชัดว่าการเริ่มต้นของ ฮัตโตริ หรือ โชนันซากุระ มันผิดตั้งแต่การติดกระดุมเม็ดแรก แต่เขามีความเชื่อมั่นมากพอกับสิ่งที่ตัวเองเลือกในขณะที่คนอื่น ๆ บอกว่าเขาโง่เง่าเกินไปในการพยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ว่าง่าย ๆ ก็คือกำลังเสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งแม้จะเป็นคำพูดที่ดูร้ายแรง แต่มันก็เป็นความจริง และความจริงนั้นย่อมเจ็บปวดเสมอ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนที่เสพติดการเจ็บปวด และยินดีที่จะยอมรับความเป็นไปไม่ได้ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต

โลกของมืออาชีพ 

แม้จะบอกว่าเป็นความจริงที่โหดร้าย แต่ความพยายามก็ไม่ได้ไร้ความหมายไปเสียทีเดียว ตัวของ โชนันซากุระ เข็มแข็งพอที่จะดันตัวเองผ่านจุดที่ใคร ๆ ดูถูกในช่วงแรก ๆ เขาผ่านการชนะมาบ้างสมัยยังเป็นนักกีฬาสมัครเล่น แต่เมื่อไต่มาถึงระดับสูง เราคงจะต้องใช้คำว่า “ตาสว่าง” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ 


Photo : portalfield.com

ตลอดเวลาที่ผ่านมา โชนันซากุระ มองข้ามคำดูถูกและคิดจะเปลี่ยนแปลงโชคชะตาด้วยพลังของตัวเอง แต่อย่างที่กล่าวไว้ อะไรจะจริงแท้ไปกว่าความเป็นจริง ในวงการซูโม่ระดับสูง ก็เหมือนกับโลกของบาสเกตบอล NBA ที่เป็นศูนย์รวมของปีศาจทั้งหลาย … นักกีฬาที่พรสวรรค์สูงส่ง, นักซูโม่ต่างชาติที่ได้เปรียบเรื่องสรีระและพันธุกรรม, นักกีฬาซูโม่ที่สืบทอดตำแหน่งจากรุ่นสู่รุ่นที่เติบโตมากับระบบที่สร้างแชมเปี้ยนมาหลายชั่วอายุคน นี่คือสิ่งที่ โชนันซากุระ ต้องเจอ คำถามคือเขาจะเอาอะไรไปชนะพวกนั้นได้ ? 

คำตอบนั้นง่ายมาก มันไม่มีทางเลย อย่างที่เคยกล่าวไว้ แม้ความพยายามจะสูงส่ง แต่ซูโม่เป็นกีฬาที่ใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายเป็นหลักในการผลักคู่ต่อสู้ออกจากเวที สิ่งสำคัญคือ นี่คือกีฬาที่ไม่จำกัดน้ำหนัก ไม่ว่าคุณจะหนัก 70 กิโลกรัม หรือ 150 กิโลกรัม คุณก็ต้องสู้เมื่อการเผชิญหน้ามาถึง

เปรียบเทียบให้ง่ายสักนิดก็คือในวงการมวยสากลที่มีรุ่นน้ำหนักเกิน 10 รุ่น แต่ละรุ่นจะมีน้ำหนักบังคับอย่างชัดเจน ซอยย่อยแต่ละรุ่นจำกัดน้ำหนักเพียงไม่กี่กิโลกรัม เหตุผลเดียวก็คือมันส่งผลแน่นอน น้ำหนักตัวมากกว่าก็พลังมากกว่ามีแรงมากกว่าและอดทนได้มากกว่า การแบ่งรุ่นน้ำหนักจึงเกิดขึ้นเพื่อความสมดุล ไม่เป็นการเอาเปรียบกันเกินไป 


Photo : asahi.com

และถ้าเปรียบกับมวยสากล โชนันซากุระ เหมือนรุ่นน้ำหนักประมาณ แมนนี่ ปาเกียว แต่ต้องขยับน้ำหนักขึ้นชกในรุ่นเฮฟวี่เวตกับนักมวยอย่าง ไมค์ ไทสัน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์  และ มูฮัมหมัด อาลี … คำตอบคือ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันเหลือโอกาสไม่ถึง 10% สำหรับการพลิกชนะสำหรับคนตัวเล็กกว่า ยิ่งสำหรับ โชนันซากุระ แล้ว เทคนิคก็ไม่ได้ดีกว่าใครเพราะเริ่มต้นช้ากว่า แบบนั้นยิ่งไปกันใหญ่ ไม่แปลกเลยที่เขาจะมีแต่แพ้กับแพ้ และใคร ๆ ก็เรียกเขาว่าความอับอายของวงการซูโม่ 

และอีกครั้งที่ต้องย้ำถึงสถิติของเขา ชนะ 3 แพ้ 238 … ค่าเฉลี่ยของชัยชนะไม่ถึง 1.5% และเมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ไม่ใช่เด็กอีกแล้ว แล้วเขาก็ไม่ได้โง่พอที่จะดึงดันทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อตัวเลขและสถิติไม่เคยโกหกใคร โชนันซากุระ รู้แจ้งแจ่มชัดว่า เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ นั่นจึงทำให้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา (ปลายเดือนสิงหาคม ปี 2021) เขาประกาศ “เลิกเป็นนักซูโม่” อย่างเป็นทางการ 

ในวันที่เขาประกาศอำลา ชื่อของ โชนันซากุระ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในญี่ปุ่น ชื่อของเขาปรากฏบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากที่เขาไม่เคยได้รับการเหลียวแล ถูกทุกคนมองด้วยหางตามาตลอด แต่ในวันที่เขาเลิก ทุกคนกลับได้พบความจริงบางประการว่า การสู้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ของ โชนันซากุระ เป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับการยกย่อง แม้ไม่มีรางวัลให้ แต่อย่าง ๆ น้อยแค่เอ่ยคำชมให้สักนิดในแบบที่เขาไม่เคยได้ ก็ยังดี … และนั่นคือสิ่งที่โลกซูโม่มอบให้กับเขา 


Photo : nikkansports.com

“โดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้เขาสู้ต่อนะ แต่ก็นั่นแหละ ผมเข้าใจความรู้สึกของเขาดีและยอมรับในการตัดสินใจของเขา เขาเป็นผู้แพ้ที่ยิ่งใหญ่ ช่วงเวลาต่อจากนี้เขาจะออกจากวงการและดำเนินชีวิตบนเส้นทางใหม่อีกครั้ง ผมอยากให้เขาพักให้เต็มที่ และสู้ตายกับสิ่งที่รออยู่เหมือนกับที่เขาทำมาตลอด” คิตะซากุระ อดีตนักมวยปล้ำซูโม่ และหัวหน้าศูนย์ฝึก ชิกิฮิดะ กล่าว 

“ผมเห็นเขาแพ้มาเยอะมาก แต่สิ่งที่เห็นหลังจากความพ่ายแพ้ทุกครั้งของเขาคือ เขาเต็มใจที่จะรับความท้าทายเสมอ เขาไม่กลัวว่าจะแข่งกับใครเลย จิตวิญญาณของเขานี่แหละที่มันน่าทึ่ง … ทุก ๆ เช้า เขาเป็นคนแรกที่ลุกจากเตียงและเตรียมพร้อมลงสู่สนามซ้อมก่อนใครเสมอ เขานั่งกินจังโกะจนวินาทีสุดท้าย ลุกจากที่นั่งเป็นคนสุดท้ายเสมอ ทำทุกทางเพื่อให้ตัวใหญ่ขึ้น มันทำให้เขาได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาอีกถึง 20 กิโลกรัม นั่นล่ะคนอย่าง ฮัตโตริ” 

โชนันซากุระ ถอดหัวโขนแล้ว เขากลับมาเป็น โชตะ ฮัตโตริ และเดินทางกลับมาเริ่มชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดในเมือง ชิงาซากิ จังหวัด คานางาวะ … เขายังไม่ได้ประกาศแน่ชัดว่าเส้นทางต่อไปคืออะไร แต่สิ่งที่เขารู้แน่คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในชีวิตนักซูโม่เขาได้อะไรกลับมาบ้าง

“ไม่มีอะไรที่ตั้งใจทำและผลออกมาไร้ค่า การเป็นนักซูโม่ให้อะไรกับผมเยอะมาก ก่อนที่ผมจะมาฝึกที่เฮยะเป็นครั้งแรก แม้แต่วิดพื้นครั้งเดียวผมยังทำไม่ได้เลย ตอนนี้ผมวิดพื้นได้ 20 เซ็ต ผมมาตอนแรกด้วยขนาดตัวที่เล็กมาก แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ผมทำในสิ่งที่หลายคนมองข้ามและเติบโตขึ้นทีละน้อย อย่างน้อย ๆ ก็มากกว่าตอนที่ผมเดินเข้ามา” ฮัตโตริ ว่าถึงสิ่งที่เขาได้รับ 


Photo : nikkansports.com

การต่อสู้ที่ยาวนาน เป็นเพียงบทพิสูจน์ในแบบที่ตัวของเขาคิดขึ้นมา เราไม่รู้เลยว่าก่อนหน้านี้เขาเป็นใครและถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน แต่การเป็นนักซูโม่ทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นนักสู้ของเขาได้เป็นอย่างดี เขาหลุดกรอบจากการดูแลของพ่อแม่ ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง เขาทำในสิ่งที่หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ และอย่างน้อย ๆ เขาเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวในวันที่เดินออกมา 

นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่น้ำเน่าเพราะแค่คำว่า “ลูกผู้ชาย” ทำให้เขาทนโดนดูถูกมานานหลายปี แต่ชีวิตของคนเราก็แบบนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะวิจารณ์การใช้ชีวิตของคนอื่น เพราะแต่ละคนล้วนมีเส้นทางและเหตุผลของตัวเองทั้งนั้น

ซึ่งในความเป็นจริง เขาไม่ได้แค่เคารพในความเป็นตัวเองมากขึ้น แต่สำหรับ ฮัตโตริ เขายังเป็นที่ชื่นชมของคนอื่น ๆ อีกด้วย 

“เขาอาจจะไม่พอใจกับสถิติของเขา และฉันแน่ใจว่ามันยากสำหรับเขา … แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาทำให้โลกซูโม่น่าสนใจยิ่งขึ้น ขอบคุณและพักผ่อนให้เต็มที่”

“กีฬาไม่ได้เกี่ยวกับการชนะเท่านั้น ถ้าคุณล้มลง คุณต้องลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าชีวิตล่ะ” คอมเมนต์หนึ่งพูดถึงเขาเช่นนี้ และมันตอบได้ชัดเจนว่า โชนันซากุระ ไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้แบบที่หลายคนเข้าใจ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ