“วุฒิสภา” มีมติเอกฉันท์ ผ่านงบ 66 พบไม่แตะงบกลาโหม ย้ำ ปชช.ต้องได้ประโยชน์ ด้าน “สุพัฒนพงษ์” ยัน ใช้งบอย่างเกิดประโยชน์และคุ่มค่าที่สุด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบฯ วุฒิสภา
ทั้งนี้ วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างพ.ร.บ.ฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมรับฟัง
นายอาคม กล่าวนำเสนอเนื้อหางบว่า ยืนยันว่าการจัดสรรงบให้กับหน่วยรับงบสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รัฐบาลขอขอบคุณวุฒิสภา ที่จะพิจารณาและพร้อมขอรับข้อสังเกตไว้ด้วยความขอบคุณ พร้อมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงให้การจัดสรรงบคุ้มค่าเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างยั่งยืน
จากนั้นเป็นการรายงานของกมธ.วิสามัญฯ โดย พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. ในฐานะประธานกมธ. อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณลงจังหวัดนั้นต่ำกว่ากรอบ ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ เพิ่มการกระจายอำนาจในการจัดสรรงบเชิงพื้นที่ตามความต้องการของจังหวัด และหน่วยงานในจังหวัดเพื่อลดความซ้ำซ้อน และความเหลื่อมล้ำ
พล.อ.ชาตอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับประมาณการรายรับที่จะส่งให้ท้องถิ่น รวมถึงรายได้ของท้องถิ่นคาดว่ามียอดต่ำกว่า 10%-20% ดังนั้น รัฐบาลควรเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเงินสะสม ส่วนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ท้องถิ่น อาจมีปัญหาเรื่องบุคลากรทั้งการบริหารบุคลากรและงบประมาณ ดังนั้น ควรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม
พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า สำหรับการควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรส่วนราชการที่พบว่ามียอดเพิ่มขึ้นทุกปี กมธ.จึงมีข้อเสนออัตรากำลังภาครัฐ ด้วยการทบทวนบทบาท กรอบอัตราที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ด้าน พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ส.ว. ในฐานะกมธ. อภิปรายว่า โครงการสำคัญที่หน่วยรับงบประมาณขออนุมัติจากครม.หลายโครงการ ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ พบว่าไม่ปฏิบัติตามมติครม. ทำให้ไม่สามารถติดตามการใช้จ่ายเงินของภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้นการแก้ไขควรมีหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อขับเคลื่อนโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และมติครม.
พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ คลาดเคลื่อนจากรายงานการเงินของหน่วยรับงบประมาณและมีเงินสะสมคงเหลือ เช่น องค์กรมหาชน องค์กรกำกับของรัฐมีเงินคงค้างจำนวนมาก และพบว่ามียอดสะสมของเงินนอกงบประมาณสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นสำนักงบประมาณต้องเคร่งครัดนำข้อมูลนอกงบประมาณของหน่วยรับงบที่ถูกต้องมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้รักษากรอบการเงินการคลังของรัฐตามกฎหมายกล่าว
พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนกิจกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่จะสิ้นสุดการเบิกจ่ายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 พบว่าหลายโครงการต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี และจะเร่งรัดเบิกจ่ายให้เสร็จในวันที่ 31 ธ.ค. 2565
จากนั้นเป็นการอภิปรายของส.ว. ซึ่งส่วนใหญ่อภิปรายภาพรวมของงบประมาณปี 2566 และหน่วยงานท้องถิ่น จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงองค์กรอิสระ และการจัดทำงบต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน รวมทั้งจะต้องมีการตรวจสอบการใช้งบไม่ให้รั่วไหล เพื่อให้เงินงบประมาณของแผ่นดินไม่ตกน้ำ ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่าไม่มีการอภิปรายถึงงบของกระทรวงกลาโหม โดยหลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 176 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง
จากนั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา ที่พิจารณาและแสดงคามเห็นต่อร่างพ.ร.บ.งบ 66 เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งรัฐบาลขอรับข้อเสนอแนะของกมธ.ไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้จัดสรรทรัพยากรมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างมากที่สุดตามความมุ่งหวังของรัฐบาล
จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 17.03 น.