จ้วงเดียวไม่เคยพอ : ทำไมแม้กระทั่งนักกีฬาระดับโลกจึงหยุดเสพติด "นูเทลล่า" ไม่ได้

Home » จ้วงเดียวไม่เคยพอ : ทำไมแม้กระทั่งนักกีฬาระดับโลกจึงหยุดเสพติด "นูเทลล่า" ไม่ได้



จ้วงเดียวไม่เคยพอ : ทำไมแม้กระทั่งนักกีฬาระดับโลกจึงหยุดเสพติด "นูเทลล่า" ไม่ได้

“น้ำหนักของผมเพิ่มขึ้น 14 กิโลกรัมในเวลา 7 เดือน ผมซดนูเทลล่าจากขวดเลย ผมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น”

นี่คือสิ่งที่ “ปีเตอร์แพน” อันโตนิโอ คาสซาโน โกลเดนบอยของวงการฟุตบอลอิตาลี พูดถึงสาเหตุที่ชีวิตการค้าแข้งของเขาเริ่มตกต่ำนับตั้งแต่ย้ายไปเล่นให้กับ เรอัล มาดริด ในช่วงปี 2006 และเขาบอกว่ามันเป็นเพราะ หยุดกิน “นูเทลล่า” ไม่ได้ …  

นี่คือเรื่องจริงที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับ คาสซาโน เท่านั้น ยังมีนักกีฬาระดับโลกอีกมากมายที่ติดซอสช็อคโกแลตที่มีชื่อว่า “นูเทลล่า” จนมีปัญหากับอาชีพ … ทำไมถึงหยุดไม่ได้ แล้วทำไม นูเทลล่า จึงสุดยอดนักในแง่ของความอร่อย ติดตามได้ที่นี่

อร่อยเทพตั้งแต่ยุคนโปเลียน

ก่อนจะพูดถึงคนที่พังเพราะเจ้าช็อคโกแลตผสมเฮเซลนัท เราคงต้องย้อนเวลาไปดูต้นตอของสุดยอดไอเท็มความอร่อยขั้นเทพกันก่อน ซึ่งหากจะย้อนไปจริง ๆ มันเริ่มตั้งแต่ 200 กว่าปีก่อน สมัยปี 1806 ที่ นโปเลียน กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส พยายามจะหยุดการค้าของอังกฤษเพื่อเป็นทางอ้อมในการเอาชนะสงคราม ซึ่งการปิดการค้าของอังกฤษนั้นได้ส่งผลให้กับสินค้าบางประเภทขาดตลาดเป็นอย่างมาก และหนึ่งในนั้นคือ “ช็อคโกแลต” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากผลโกโก้อีกที  

การขาดช็อคโกแลตทำให้หลายประเทศโอดโอย แต่ไม่ใช่ที่ อิตาลี เหล่าพ่อครัวอาหารทั้งคาวและหวานของที่นี่จัดว่าเป็นยอดฝีมืออยู่แล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงแก้ปัญหาได้อย่างง่าย ๆ “ช็อคโกแลตแพงแล้วไง ก็เพิ่มอย่างอื่นใส่แทนเข้าไปสิ” ซึ่งหวยก็มาออกที่เจ้า เฮเซลนัท (ถั่วชนิดหนึ่ง) ที่ได้รับการทดลองจนรับรู้ทั่วกันว่ารสชาติอร่อยสุดยอด ไม่แพ้ช็อคโกแลต 100% แถมได้รสสัมผัสที่แตกต่าง ตามภาษานักกินที่พูดกันว่า “มีรสชาติหลายเลเยอร์” มากกว่าเดิม การผสมระหว่างช็อคโกแลตกับเฮเซลนัทนั้นถูกเรียกว่า  “Gianduia” 


Photo : www.caffarel.com

 

นั่นคือต้นแบบของ นูเทลล่า อย่างแท้จริง ชาวอิตาลีใช้โมเดลนี้อีกครั้งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอีกกว่า 100 ปีต่อมา ตอนนั้น ปิเอโตร เฟอร์เรโร่ ช่างทำขนมชาวอิตาเลี่ยน เริ่มนำวิธีผลิตช็อคโกแลตแบบยุคปี 1800s มาใช้อีกครั้ง และเขาทำมันจริงจังพร้อมกับสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา นั่นแหละ นูเทลล่า จึงถือกำเนิดขึ้นมา 


Photo : www.nutella.com

ความอร่อยขั้นเทพทำให้ นูเทลล่า ขาดตลาด เหล่าชนชั้นสูงในอิตาลีเป็นคนสร้างเทรนด์การกิน นูเทลล่า ในมื้อเช้าร่วมกับขนมปังขึ้นมา เหตุการณ์นี้ทำให้ นูเทลล่า ถูกบรรจุเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” ของ อิตาลี ในเวลานั้น  

มันเป็นไปตามกลไกของสินค้าแทบจะทุกชนิด การให้ “อินฟลูเอนเซอร์” นำร่อง ย่อมมีคนอยากจะทำตาม ดังนั้นกระแส นูเทลล่า จึงค่อย ๆ กระจายไปยังทั่วทุกพื้นที่ รสชาติอร่อย หวาน มัน และเข้มข้น คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เผลอแวบเดียว บริษัท Nutella ร่ำรวยจากผลิตภัณฑ์นี้จนส่งขายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา … นั่นแหละครับ ติดกันงอมแงมทั้งโลกอร่อยจนหยุดไม่อยู่เลยทีเดียว

นูเทลล่า ดีหรือไม่ ? ทำไมนักกีฬาก็เอากับเขาด้วย ? 

เมื่อฮิตฮอตกันทั่วบ้านทั่วเมืองก็แน่นอนว่า ชาวตะวันตกที่มีวัฒนธรรมมื้อเช้าแบบเบา ๆ จึงนิยมใช้ นูเทลล่า เป็นตัวเพิ่มความอร่อย เพราะมันเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง สามารถทำให้ท้องอิ่ม มีพลังงานทำงานได้จนถึงมื้อเที่ยง ซึ่งคำว่า “วัฒนธรรม” หมายถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและปฏิบัติตามตรงกัน แน่นอนว่าไม่เว้นแม่แต่อาชีพที่ต้องใช้ร่างกายและรักษาหุ่นอย่างนักกีฬาด้วย

ความจริงมันไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะ นูเทลล่า เองก็เหมือนอาหารทุกชนิด มีข้อดีและข้อเสีย อย่างที่กล่าวไปข้างต้น มันให้พลังงานสูง และนักกีฬาบางชนิดก็จำเป็นต้องใช้มันในยามเช้า เพราะโดยวัฒนธรรมแล้ว พวกเขาคงไม่มานั่งจกข้าวเหนียวไก่ทอด หรือข้าวมันไก่อยู่แล้ว มันคือความคุ้นชินที่ต้องกินขนมปัง น้ำส้ม นม หรือ กาแฟ ดังนั้นแยมผลไม้ก็ยังไม่สามารถให้พลังงานได้ดีมากเท่ากับ นูเทลล่า และด้วยความที่อร่อยด้วยให้พลังงานด้วย มันจึงไม่ผิดนักหากนักกีฬากินนูเทลล่าเป็นอาหารเช้า เพราะพวกเขามีภารกิจที่ต้องใช้ร่างกายอีกมากมายให้ต้องทำตลอดทั้งวัน 

อลิสแตร์ บราวน์ลี นักไตรกีฬาชาวอังกฤษที่เคยคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกถึง 2 ครั้ง ยังเปิดเผยว่า นูเทลล่า คือสิ่งที่เขาขาดไม่ได้เลย ไม่ใช่แค่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงการเข้าคอร์สฝึกซ้อมสำหรับงานใหญ่ ยิ่งจำเป็นมากสำหรับมื้อเช้าทุกวัน

“มื้ออาหารเช้าประจำวันของผมสำหรับช่วงการซ้อมสำหรับงานใหญ่ คือการกิน นูเทลล่า เล็กน้อยโดยทากับขนมปังปิ้ง บางทีอาจจะมีการเพิ่มโจ๊กในมื้อเช้าเข้าไปด้วย” คนเหล็กจากอังกฤษกล่าวถึงอาหารมื้่อสำคัญ

 

อลิสแตร์ มักจะเบา ๆ ยามเช้า ปาดนูเทลล่าบนขนมปังสักนิดก่อนไปซ้อม หลังจากนั้นเขาจะมาเน้นในมื้อกลางวันโดยกินอาหารอย่างเนื้อสัตว์แบบหนัก ๆ หรือ บาร์บีคิว เช่นเดียวกับมื้อค่ำที่เขาจะจัดเต็มแบบสุดด้วยสเต็กเนื้อและผัก ซึ่งเคล็ดลับจริง ๆ สำหรับนักกีฬาที่ใช้พลังงานเยอะอย่างเขา คืออยากกินอะไรก็กินได้ แต่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม 

“กินให้สมดุล อย่าจมอยู่กับอาหารลดน้ำหนักซ้ำ ๆ ซาก ๆ เคล็ดลับคือกินให้เพียงพอสำหรับที่ร่างกายต้องใช้ ฝึกและกินอย่างสม่ำเสมอ” เขาว่าเช่นนั้น 

อย่างไรก็ตาม นูเทลล่า นั้นไม่ใช่แค่ช็อคโกแลตผสมเฮเซลนัทธรรมดา ๆ แต่สิ่งที่พวกเขาใส่เยอะที่สุดภายใน 1 ขวดคือ “น้ำตาล” นั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่ได้บอก และน้ำตาลนั้นร้ายสำหรับสายรักสุขภาพอยู่แล้ว ทั้งทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้านอินซูลินซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้น้ำตาลที่มากเกินไปคือต้นเหตุของโรคหัวใจ, โรคอ้วน, ระบบทางเดินอาหารอักเสบ และ โรคมะเร็งทั้งหลาย … ถึงตรงนี้ต้องย้ำอีกครั้งว่า “ในกรณีที่มากเกินไป” และ “กินแบบไม่มีสมดุล”    

 

นูเทลล่า 2 ช้อนโต๊ะ มีแคลอรีทั้งหมด 220 แคลอรี, มีแคลอรีจากไขมัน 110 แคลอรี, ไขมันทั้งหมด 12 กรัม (20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) และน้ำตาลอีก 21 กรัม … นี่แค่ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น ซึ่งใครที่กินนูเทลล่าบ่อย ๆ และจัดอยู่ในเลเวล “เลิฟเวอร์” นั้น จะเข้าใจดีว่า 2 ช้อนโต๊ะไม่มีทางพออยู่แล้ว … ดังนั้นรู้ทั้งรู้ว่ามากเกินไปไม่ดีต่อสุขภาพ ทำไมเรายังหยุดไม่ได้ แม้กระทั่งนักกีฬาระดับโลกที่ต้องใช้ร่างกายหากินยังต้านทานไม่ไหวกันล่ะ ?

มันหยุดไม่ได้จริง ๆ

เราไม่ได้กล่าวหาลอย ๆ ว่า นักกีฬายังหยุดกินนูเทลล่า (แบบเกินความพอดี) ไม่ได้ เพราะเรื่องการติดนูเทลล่าในนักกีฬาเกิดขึ้นจริง และยังเป็นการแข่งขันระดับโลกอย่าง โอลิมปิก หรือนักฟุตบอลที่ค้าแข้งในระดับสูงเลยด้วยซ้ำ

มักซ์ ครูเซ่ นักเตะชาวเยอรมันที่สมัยรุ่ง ๆ สุดขีด เขาสามารถก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่มาแล้ว เคยโดน โยอาคิม เลิฟ กุนซือทัพอินทรีเหล็กตัดชื่อออกจากทีมเพราะว่า เขาติดนูเทลล่ามากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมอาหารและทำให้น้ำหนักลงมาตามเกณฑ์ได้ 


Photo : www.essentiallysports.com

 

นอกจากนี้ ในการแข่งขัน ลอนดอน เกมส์ เมื่อปี 2012 เกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้นในหมู่บ้านนักกีฬา ถึง 3 วันติดต่อกัน เรื่องก็คือนักกีฬาจากทั่วโลกแย่งกันเบิกช็อคโกแลตเฮเซลนัทยี่ห้อ “นูเทลล่า” กันจนเกลี้ยงคลังหมู่บ้านนักกีฬา และนั่นทำให้ IOC (คณะกรรมการโอลิมปิกสากล) ต้องเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้เลยทีเดียว 

“เรารู้ว่ามีหลายสิบประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันนั้นกินนูเทลล่าเป็นอาหารหลัก ทั้งเช้า กลางวัน และเย็น … แต่เราไม่คิดว่ามันมีวัฒนธรรมอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมัน เอานูเทลล่ามาทาผิว, ชาวสวีเดน จะต้องกินนูเทลล่าและเอาขวดของมันวางไว้ข้างหน้าต่างทุก ๆ คืน เพื่อเป็นเครื่องเซ่นสำหรับผีป่า (Forest Spirit) หรือแม้กระทั่งชาวอาร์เมเนีย จะเอานูเทลล่ามาทำเป็นเหรียญรางวัลของพวกเขาแล้วกินมันจนเกลี้ยง” โฆษกของ IOC กล่าวถึงเหตุผลที่ นูเทลล่า ขาดตลาดในหมู่บ้านนักกีฬา  

การขาดตลาดในหมู่บ้านนักกีฬาครั้งนั้นทำให้เกิดการแก้เกมที่เฉียบขาดมาก โดยใช้เทคนิคร้านพิซซ่าที่มักจะใช้ซอสมะเขือเทศราคาถูกใส่ขวดที่มีโลโก้สินค้ายี่ห้อดี ๆ แทนเป็นการหลอกด้วยรูปลักษณ์ภายนอก นั่นคือการเอาช็อคโกแลตชนิดอื่นใส่ขวดนูเทลล่าแทนกันเลย

กลับมาที่คำถามหลัก ทำไมพวกเขาถึงหยุดไม่ได้ ? ไม่กินสักวัน หรือกินแค่ช้อนสองช้อนจะเป็นอะไรไป ? เรื่องนี้มีคำตอบจริง ๆ จากการไขข้อสงสัยจากวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว 

“เคล็ดลับของ นูเทลล่า ที่หยุดกินมันไม่ได้ อยู่ที่ส่วนผสม” โรแบร์ต้า ซาสซาเตลลี่ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยมิลาน เริ่มกล่าว 

“นอกจากน้ำตาลและไขมันแล้ว นูเทลล่า ยังอุดมไปด้วยช็อกโกแลต ช็อกโกแลตมีนั้นมีฤทธิ์เหมือนกับสารเสพติด เพราะสมองแสดงปฏิกิริยาในแบบเดียวกัน”

“หนึ่งในสารเหล่านี้คือ ทริปโตเฟน ทริปโตเฟนเป็นกรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นของ เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ เมื่อระดับเซโรโทนินสูง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจ นอกจากทริปโตเฟนแล้ว ยังมี Phenylethylamine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ได้จากแอมเฟตามีน (หนึ่งในส่วนผสมของยาบ้า, ยาไอซ์) สิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและดึงดูดด้วย” 

นักวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นผลการค้นพบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดมีความคล้ายคลึงกับความอ้วน ตรงที่สมองส่วนที่แสดงปฏิกิริยาเมื่อพบเห็นอาหาร  เป็นส่วนเดียวกันกับที่เมื่อผู้เสพติดเห็นการเสพยาเสพติดเข้า มันไม่ใช่แค่อร่อยจนหยุดไม่ได้ แต่ส่วนผสมของมันก็เป็นกุญแจสำคัญ ที่ทำให้นักกีฬาผู้รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควรกินเยอะ ยังไม่สามารถหยุดกินนูเทลล่าได้

นูเทลล่า ไม่ใช่ผู้ร้าย

แม้จะบอกว่าถ้ากินมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายไม่เหมาะกับการอาชีพนักกีฬา แต่อย่าลืมว่านอกจากพวกเขาจะเป็นนักกีฬา พวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นการได้กินของอร่อย ถือเป็นการสร้างความสุขอย่างหนึง

เมื่อมีความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นก็ทุเลาลง ดังนั้น นูเทลล่า หรือ ช็อคโกแลตเฮเซลนัท ไม่ใช่ผู้ร้ายหรือยาเสพติดอย่างเดียว แต่มันคือยาดีที่ช่วยให้ลืมความเครียด เอ็นจอยกับชีวิต หลีกหนีความเศร้าในอีกทางหนึ่ง

อันโตนิโอ คาสซาโน โกลเดนบอยของวงการฟุตบอลอิตาลี อาจจะพูดถึงสาเหตุที่ชีวิตการค้าแข้งของเขาเริ่มตกต่ำนับตั้งแต่ย้ายไปเล่นให้กับ เรอัล มาดริด ในช่วงปี 2006 และเขาบอกว่ามันเป็นเพราะเขาหยุดกิน “นูเทลล่า” ไม่ได้  แต่ในอีกทางหนึ่งเขาก็มีความสุขในช่วงเวลาที่ชีวิตและอาชีพการงานไม่เป็นดั่งใจด้วย 

ช่วงเวลานั้น คาสซาโน มีปัญหาเรื่องทัศนคติ เขาอาจจะเริ่มต้นได้ดีแต่ไม่นานนักเขาก็ทะเลาะกับ ฟาบิโอ คาเปลโล โค้ชของทีม จนทำให้เขาถูกตัดออกจากทีมไป และขาดการลงสนามเป็นเวลานาน ในช่วงเวลาที่เครียดถึงขีดสุด เขาก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาด้วยการกินนูเทลล่า เพียงแค่มันมากไป เพราะตอนนั้น นูเทลล่า ถือเป็นผู้สนับสนุนของ เรอัล มาดริด และ พวกเขามอบผลิตภัณฑ์ให้กับ คาสซาโน มากินในช่วงว่าง ๆ ถึง 5 กิโลกรัม  

จำนวนที่มากขนาดนั้น กับการที่ นูเทลล่า ออกฤทธิ์คล้ายสารเสพติดตามที่กล่าวไปข้างต้น จึงทำให้ คาสซาโน เบรกแตก จ้วง นูเทลล่า แหลก จนน้ำหนักขึ้นมา 14 กิโลกรัมภายในเวลาไม่กี่เดือน  


Photo : www.soccerladuma.co.za

นูเทลล่า จะเป็นผู้ร้ายก็ต่อเมื่อผู้บริโภคห้ามใจไม่อยู่เท่านั้น กล่าวแบบนั้นจึงจะแฟร์สำหรับทุกฝ่ายมากกว่า

การหลีกหนีความทุกข์ด้วยการกิน ถือเป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำกัน ยิ่งหากทำแต่พอดี เอาแค่พอหายอยาก ก็จะกลายเป็นผลบวกกับตัวนักกีฬาเหล่านั้น (รวมถึงทุก ๆ คน) ด้วยซ้ำไป 

แม้แต่ ราฟาเอล นาดาล ยอดนักเทนนิสระดับโลกชาวสเปน ยังเคยเปิดเผยเคล็ดลับการผ่อนคลายของเขาว่า ทุกครั้งที่เขาเครียดและรู้สึกกระวนกระวายใจ เขามักจะไปหยิบ นูเทลล่า ที่มีสแตนด์บายในตู้เย็นมายัดปากให้พออาการทุเลาเสมอ …  และ นูเทลล่า ก็ถือเป็นยาแก้เครียดที่ทำให้ นาดาล สามารถลงคอร์ทไปหวดแบบลืมตาย ไร้ความเครียดในหัวได้ 

ไม่ว่าจะอาหารอะไรที่สุดแล้วสิ่งสำคัญคือความพอดี นูเทลล่า อาจจะมีส่วนผสมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ที่ปฎิเสธไม่ได้เลย คือมันอร่อยสุด ๆ จนได้รับการยอมรับในระดับสากล จนถึงขั้นมีการก่อตั้ง “วันนูเทลล่า โลก” ในทุกๆวันที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ นับตั้งแต่ปี 2007 … ใคร ๆ ก็รักนูเทลล่า แต่น้อยคนนักจะหยุดกินมันได้ … แล้วคุณล่ะ ? กินมันมากกว่า 2 ช้อนโต๊ะใน 1 ครั้งหรือเปล่า ?    

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ