ลิโอเนล เมสซี่ ออกจากบาร์เซโลน่า, ซื้อนักเตะค่าตัวสูงสุด 35 ล้านยูโร, สโมสรติดหนี้รวม 1,704 ล้านยูโร และขาดทุน 959 ล้านยูโร
นี่คือเหตุการณ์ และข่าวคราวทั้งหมดที่ถูกเปิดเผยออกมาในช่วงหน้าร้อนปี 2021 อันแสดงให้เห็นถึงขาลงของลา ลีกา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคู่แข่งที่สูสีของพรีเมียร์ลีก แต่วันนี้กลับมีแต่ปัญหา และสงครามระหว่างคนภายในวงการฟุตบอลสเปนไม่จบไม่สิ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงโครงสร้าง ลา ลีกา ที่ไม่แข็งแรง และอ่อนแอลงไปในช่วงหลายปีหลัง … Main Stand จะพาคุณไปดูสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ไม่เท่าเทียม จนการแข่งขันไม่ดึดดูดนักลงทุนต่างชาติ และการใช้เงินเกินตัวที่กลับมาทำร้ายสโมสรยักษ์ใหญ่ ในช่วงวิกฤตโควิด-19
ปัญหาจากการแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด
เมื่อกล่าวถึงโครงสร้างของ ลา ลีกา เรื่องแรกที่จำเป็นต้องพูดถึงคือ “การแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด” ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในลีกมาอย่างยาวนาน และอาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดที่เราเห็นในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปยังปี 2011 หลังความสำเร็จสะท้านโลกของบาร์เซโลน่า และ ลิโอเนล เมสซี่ รวมถึงการย้ายเข้ามาสู่ เรอัล มาดริด ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการลูกหนัง ฟุตบอลลีกสูงสุดของสเปน กลายเป็นการแข่งขันกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่เมื่อมองลึกไปยังรายรับรวมของลีก กลับมีรายได้ส่วนหนึ่งที่แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย นั่นคือ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด
Photo : www.aljazeera.com
แตกต่างจาก พรีเมียร์ลีก ที่ปรับตัวเป็นธุรกิจกีฬามาตั้งแต่ปี 1992 และมอบสิทธิ์ให้องค์กรส่วนกลาง หรือ ผู้จัดการแข่งขันดูแลผลประโยชน์ทั้งหมดของลีก (ประยุกต์มาจากโมเดลลีกกีฬาในสหรัฐอเมริกา) ลา ลีกา ยังคงเชื่อว่าฝ่ายจัดการแข่งขัน มีหน้าที่เพียงควบคุมการแข่งขัน ส่วนเรื่องธุรกิจ เป็นหน้าที่ของแต่ละสโมสรต้องจัดการกันเอง
การเจรจาเพื่อผลประโยชน์จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดก็เช่นเดียวกัน แต่ละสโมสรในสเปนต่างส่งตัวแทนไปพูดคุยกับช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ ทีมไหนมีความน่าสนใจมาก มีแฟนบอลอยากดูเยอะ ย่อมได้สัญญาก้อนโต แต่ทีมไหนแฟนบอลน้อย ก็จะได้สัญญาที่มีมูลค่าแตกต่างจากทีมใหญ่มาก ทั้งที่ลงแข่ง 38 เกมเท่ากัน
เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า จึงถือเป็นเสือนอนกินจากการจัดการค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในรูปแบบดังกล่าว ก่อนจะมีการปรับระบบเหมือนในปัจจุบัน ทั้งสองทีมฟันเงินทีมละ 140 ล้านยูโร จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในแต่ละฤดูกาล โดยไม่ต้องสนใจว่ารายได้รวมของทั้งลีกจะมากน้อยแค่ไหน
นั่นจึงทำให้ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ร่วมกันการันตีส่วนแบ่ง 280 ล้านยูโร จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้งหมดใน ลาลีกา โดยในฤดูกาล 2014-15 ที่รายได้รวมส่วนนี้อยู่ที่ 855 ล้านยูโร เท่ากับว่า ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดราว 32 เปอร์เซ็นต์ ถูกมอบให้กับ 2 สโมสร ส่วนอีก 68 เปอร์เซ็นต์ ถูกหารให้กับอีก 18 ทีมที่เหลือ
นี่คือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดขึ้นใน ลา ลีกา เห็นได้ชัดจากทีมอันดับสามอย่าง แอตเลติโก มาดริด ที่ได้รับส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในฤดูกาล 2015-16 เพียง 69 ล้านยูโร หรือ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ส่วน ลาส พัลมาส ซึ่งจบที่อันดับ 11 ของฤดูกาล แต่เป็นโชคร้ายที่น้องใหม่ที่เพิ่งขึ้นสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 14 ปี ได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในซีซั่นดังกล่าวไปเพียง 28 ล้านยูโร
Photo : johancruyffinstitute.com
เห็นได้ชัดว่า เงินรางวัลที่แต่ละทีมควรจะได้ ไม่สอดคล้องกับผลงานในแต่ละฤดูกาล เหมือนกับ พรีเมียร์ลีก หรือ บุนเดสลีกา ที่จัดสรรค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดตามอันดับในตาราง ส่งผลให้อำนาจในการต่อรองทั้งหมดอยู่ในมือของสองทีมใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รายได้ลีกในภาพรวมไม่เติบโต เพราะเสือนอนกินอย่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า คงจะไม่เต็มใจยื่นมือไปช่วยทีมอื่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ ฤดูกาล 2011-12 จนถึง ฤดูกาล 2014-15 รายได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของ ลา ลีกา เพิ่มขึ้นเพียง 126 ล้านยูโร สวนทางกับความนิยมของลีกในขณะนั้นอย่างเห็นได้ชัด จึงถึงเวลาที่ ลา ลีกา ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ แม้อาจจะต้องยอมให้เรื่องราวบานปลายใหญ่โต จนขึ้นโรงขึ้นศาลก็ตาม
ปี 2015 รัฐบาลสเปนจึงออกกฎหมาย Royal Decree 5/2015 หรือ พระราชกฤษฎีกา 5/2015 ให้การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพในประเทศ เป็นไปในลักษณะกลุ่ม แปลง่าย ๆ คือ ไม่อนุญาตให้ขายใครขายมันแบบเมื่อก่อนอีกแล้ว ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลดีต่อ ลา ลีกา เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของลีกพุ่งสู่ 1,454 ล้านยูโร ในฤดูกาล 2016-17 คิดเป็นการเติบโต 99.6 เปอร์เซ็นต์ หากนับจากฤดูกาล 2011-12
สวนทางกับ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ที่เคยเป็นเสือนอนกิน กลับกลายเป็นเสืออยู่ยาก เพราะพวกเขาแทบไม่ได้รับผลประโยชน์จากการแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรูปแบบใหม่นี้เลย โดยในปี 2018 บาร์เซโลน่า มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 154 ล้านยูโร ส่วน เรอัล มาดริด เพิ่มเป็น 148 ล้านยูโร
ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้กลายเป็นดาบสองคมของ ลา ลีกา ทางหนึ่งมันสร้างความเท่าเทียมในลีกขึ้นอย่างชัดเจน แต่อีกทาง การแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดตรงนี้ กลับทำลายความแข็งแกร่งทางการเงินของสองทีมใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหอกของฟุตบอลสเปนในการเจาะตลาดโลก
Photo : www.chinadaily.com.cn
หากย้อนกลับไปยังปี 2012 ที่เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า กวาดเงินไปทีมละ 140 ล้านยูโร บรรดา Big 6 ในพรีเมียร์ลีก มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเพียงราว ๆ 80-70 ล้านยูโร หมายความว่า บางทีมมียอดตามหลังยักษ์ใหญ่จากสเปนเกือบครึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 2018 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถึง 149 ล้านปอนด์ หรือราว 173 ล้านยูโร แซงหน้าสองทีมจาก ลา ลีกา เป็นที่เรียบร้อย
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรอัล มาดริด จะฟ้องศาล เพื่อเรียกร้องเงิน 23.9 ล้านยูโร ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าสูญเสียไปจากการเปลี่ยนแปลงระบบลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทัพราชันชุดขาวก็แพ้คดีความ ถือเป็นหลักฐานชั้นดีว่า เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า จะไม่ได้ผลประโยชน์ที่เคยมีมาตลอดหลายสิบปี และต้องดำเนินธุรกิจของทีมต่อไป ด้วยส่วนแบ่งที่ลดลงอย่างน่าใจหายกับการแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรูปแบบใหม่
ขาดเงินลงทุนจากต่างชาติ
การแก้ปัญหาในเรื่องส่วนแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ช้าเกินไปของ ลา ลีกา ยังก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายด้าน นอกเหนือจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องตัวเลขในบัญชีโดยตรง หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจฟุตบอลในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในฟุตบอลสเปน ที่ตามหลังฟุตบอลอังกฤษอยู่ในเวลานี้
Photo : www.itv.com
สำหรับ พรีเมียร์ลีก การบริหารและจัดการแข่งขันในรูปแบบธุรกิจกีฬา ถือเป็นหัวใจหลักของฟุตบอลลีกสูงสุดแห่งอังกฤษมาตั้งแต่ต้น โดยเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น ซึ่งอบอวลด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ กล่าวคือ ส่งเสริมการปฏิรูปกิจการทั้งหมดสู่ระบบเอกชน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ให้เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ
ตลอดยุค 2000s นักลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก เข้ามาจับจองเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในอังกฤษ เช่น โรมัน อบราโมวิช เจ้าของทีม เชลซี ชาวรัสเซีย, มัลคอล์ม เกลเซอร์ เจ้าของทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชาวอเมริกัน (ปัจจุบันตระกูลเกลเซอร์ถือครองสโมสรต่อ หลังการเสียชีวิตของมัลคอล์มในปี 2014), สแตน โครเอนเก้ เจ้าของทีม อาร์เซน่อล ชาวอเมริกัน หรือ ชีค มานซูร์ เจ้าของทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นี่คือการยกระดับที่ทำให้พรีเมียร์ลีก ก้าวขึ้นมาเป็นลีกหมายเลขหนึ่งของโลกในปัจจุบัน
เมื่อเงินจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่การแข่งขัน เนื่องจากการเติบโตในทศวรรษ 2000s พรีเมียร์ลีกฉลาดพอที่จะกระจายผลประโยชน์ตรงนี้อย่างทั่วถึง ยกตัวอย่าง การแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ ที่ช่วยให้ทีมบ๊วยของพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2017-18 อย่าง เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ยังได้เงินสูงถึง 95 ล้านปอนด์ แถมยังได้รับส่วนแบ่งจากกฎเงินรางวัลชูชีพ อีก 75 ล้านปอนด์ นั่นหมายความว่า เวสต์บรอมวิช มีรายได้มากถึง 170 ล้านปอนด์ ทั้งที่ตกชั้นจากลีกสูงสุดในปีนั้น
นี่คือความแตกต่างสำคัญที่ทำให้ พรีเมียร์ลีก ยังเดินต่อไปได้ แตกต่างจาก ลา ลีกา ที่หลังจาก เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา ผงาดขึ้นมาสู่ระดับโลก ในช่วงปลายทศวรรษ 2000s แต่ทางลีกกลับไม่เติบโตต่อในอีก 10 ปีถัดมา เพราะทีมเล็ก ๆ ไม่ได้ส่วนแบ่งที่สมน้ำสมเนื้อ แถมปัญหาการแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ยังมีผลทำให้รายได้ส่วนนี้ไม่เติบโตขึ้นเลยในช่วงต้น 2010s
เมื่อผลตอบแทนไม่ดึงดูด การลงทุนจากต่างประเทศจึงไม่เข้ามา เห็นได้ชัดว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อทีมใน ลา ลีกา มักจะเป็นเศรษฐี “เกรดรอง” ทั้งสิ้น เช่น ปีเตอร์ ลิม นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ที่เข้ามาซื้อบาเลนเซีย ตั้งแต่ปี 2014 โดยพร้อมสานต่อเมกะโปรเจ็กต์ นู เมสตายา รังเหย้าใหม่ของทีม แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด นู เมสตายา จึงสร้างไม่เสร็จจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับต้องแบกหนี้ 274 ล้านยูโร จากการรายงานเมื่อปี 2020
Photo : www.football-espana.net
ในทางกลับกัน พรีเมียร์ลีก กลับมีแต่นักลงทุนมากมายเข้ามาทำธุรกิจทีมฟุตบอล โดยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจกีฬาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเป้าหมายในการแสวงหากำไรจากธุรกิจโดยเฉพาะ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีใจรักสโมสร จนอยากทุ่มแหลกแบบ โรมัน อบราโมวิช หรือ ชีค มานซูร์ แต่เมื่อเห็นโอกาสที่เปิดกว้างในพรีเมียร์ลีก พวกเขาจึงพาเหรดเข้ามาจับจองเป็นเจ้าของทีมตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ช่วงปี 2010s เราได้เห็นเจ้าของทีมฟุตบอลหน้าใหม่ในพรีเมียร์ลีก ที่มีเอี่ยวกับแฟรนไชส์กีฬาในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Fenway Sports Group เจ้าของทีม ลิเวอร์พูล และ บอสตัน เรดซ็อกส์ ในลีกเบสบอล MLB, 49ers Enterprises ผู้ถือหุ้นรองของ ลีดส์ ยูไนเต็ด และเจ้าของทีม ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส ในอเมริกันฟุตบอล NFL รวมถึง ชาฮิด ข่าน เจ้าของทีม ฟูแล่ม, แจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส ในอเมริกันฟุตบอล NFL และค่ายมวยปล้ำ ออล อีลิต เรสลิ่ง หรือ AEW
นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากประเทศอื่น ทั้ง นาสเซฟ ซาวิริส มหาเศรษฐีชาวอียิปต์เจ้าของทีมแอสตัน วิลล่า, กลุ่ม Fosun International เจ้าของทีมวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส จากประเทศจีน หรือ King Power International Group เจ้าของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ จากประเทศไทย
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พรีเมียร์ลีกแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วน ลา ลีกา ไม่ได้มีการพัฒนาลีกที่เกิดขึ้นจากเงินลงทุนภายนอกในรูปแบบเดียวกัน ส่งผลให้โครงสร้างโดยภาพรวมของลีกไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากเม็ดเงินที่หมุนเวียนภายในลีกค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง พรีเมียร์ลีก
สงครามภายในทำลายทุกอย่าง
กำลังหลักในการยกระดับ ลา ลีกา จึงอยู่ในมือของสองยักษ์ใหญ่ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ซึ่งตลอดสิบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ทุกอย่างไปได้สวย กระทั่งวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่พลิกสถานการณ์กลับตาลปัตร ส่งผลให้ภาพหวังที่สวยงามของฟุตบอลสเปนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Photo : www.marca.com
ดั่งที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า เจ้าของทีมส่วนใหญ่ในพรีเมียร์ลีกล้วนเป็นมหาเศรษฐี ภาวะขาดทุนจากการบริหารทีมฟุตบอลในช่วงโควิดที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสายป่านธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีกำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้มีผลกระทบอะไรจนทำให้ภาวะการเงินของสโมสรสั่นคลอน
แต่สำหรับ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ที่ผู้ถือหุ้นสโมสรทั้งหมดคือแฟนบอล นั่นหมายความว่า สโมสรจะต้องรับภาระจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 แบบเต็ม ๆ โดยไม่มีกลุ่มทุนอื่นหนุนหลัง เนื่องจากสโมสรมีลักษณะคล้ายกับบริษัทเดี่ยวที่ดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง
มีรายงานออกมาว่า สโมสรใน ลา ลีกา ขาดทุนรวมกันอยู่ที่ 733 ล้านยูโร จากฤดูกาล 2019-20 โดยครึ่งหนึ่งของตัวเลขนั้น คือตัวแดงที่เกิดขึ้นจากสโมสรบาร์เซโลน่า และนั่นยังทำให้หนี้โดยรวมของทุกสโมสรเพิ่มขึ้นจาก 959 ล้านยูโรในฤดูกาล 2018-19 สู่ 1,704 ล้านยูโร ในซีซั่นถัดมา
สรุปสถานการณ์สโมสรสเปนในตอนนี้ คือ “ขาดทุนยับ แถมหนี้เยอะ” ซึ่งสวนทางกับสถานะของ ลา ลีกา ซึ่งเป็นลีกเดียวในยุโรปที่บริหารจัดการแข่งขันแล้วสามารถสร้างกำไรจากฤดูกาล 2019-20 ด้วยตัวเลข 77 ล้านยูโร ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า เป็นอย่างมาก เพราะในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางการเงิน ลีกกลับโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋า โดยที่สองยักษ์ใหญ่ไม่ได้ผลประโยชน์อะไร
การเติบโตที่สวนทางระหว่างลีกกับสโมสร นำมาสู่จุดแตกหักของทั้งสองฝ่าย เมื่อ เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า กลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้ง “ซูเปอร์ลีก” ที่ยังไม่พับโปรเจ็กต์ลงในปัจจุบัน แม้จะเหลือเพียง 3 สโมสรที่ร่วมหัวจมท้าย โดยมี ยูเวนตุส จาก กัลโช่ เซเรียอา อิตาลี ร่วมด้วยอีกทีมก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยังแย่ลงมาก เมื่อ ลา ลีกา ตกลงขายหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 2,700 ล้านยูโร แก่ CVC Capital Partners บริษัทการลงทุนจากลักเซมเบิร์ก ซึ่งกระทบต่อรายได้ของสองยักษ์ใหญ่โดยตรง จน ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ต้องยื่นเรื่องฟ้องกับศาล
Photo : news.in-24.com
เห็นได้ชัดว่า เกมการเมืองในฟุตบอลสเปนมีสูงมาก ซึ่งมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่าง ลา ลีกา ที่ต้องการทำลายการผูกขาดอำนาจของสองทีมดัง ส่วน เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า ก็มองว่าลีกกำลังโกยเงินเข้ากระเป๋า ขณะที่ทีมกำลังเผชิญหน้ากับภาวะขาดทุน และหนี้มหาศาล
ถึงตรงนี้ เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า เผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางการเงินอย่างทุกวันนี้ เพราะการใช้จ่ายแบบเกินตัวก่อนวิกฤตโควิด เห็นได้ชัดจากการซื้อตัวผู้เล่นด้วยราคามหาศาลครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น เอแด็น อาซาร์, อองตวน กรีซมันน์, อุสมาน เดมเบเล และ ฟิลิปเป คูตินโญ่ ที่ไม่เคยตอบโจทย์ด้วยผลงานในสนาม ซึ่งนิสัยใช้เงินเกินตัวแบบนี้ ยังลามไปถึงทีมอื่น เช่น แอตเลติโก มาดริด ที่ควักเงิน 120 ล้านยูโร ซื้อ ชูเอา เฟลิกซ์ เข้ามาสู่ทีม
แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 เข้ามาทำพิษ นักเตะค่าตัวแพง 5 อันดับแรกของ ลา ลีกา ในตลาดหน้าร้อน ฤดูกาล 2020-21 มีมูลค่ารวมกันแค่ 80 ล้านยูโร และเฉลี่ยเป็น 4 ล้านยูโรต่อหนึ่งสโมสร ซึ่งลดลงอย่างน่าใจหาย โดยผู้เล่นค่าตัวแพงที่สุดคือ โรดริโก เดอ ปอล ที่ย้ายสู่ แอตเลติโก มาดริด ด้วยค่าตัว 35 ล้านยูโร
ขณะที่ พรีเมียร์ลีก ซึ่งสถานะการเงินแข็งแรง ยังใช้จ่ายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งการซื้อตัว แจ็ค กรีลิช, โรเมลู ลูกากู, เจดอน ซานโช่, เบน ไวท์ และ คริสเตียน โรเมโร่ ซึ่งค่าตัวรวมกัน 433 ล้านยูโร เฉลี่ยเป็น 21.5 ล้านยูโรต่อหนึ่งสโมสร มากกว่า ลา ลีกา ถึง 4 เท่า
ภาพที่สะท้อนออกมาในตลาดซื้อขายหลังยุคโควิด แสดงให้เห็นว่า ทีมฟุตบอลจากสเปนใช้เงินเกินตัวมาตลอด แต่พวกเขาอาศัยรายรับมหาศาล พร้อมกับมูลค่าแบรนด์ในภาพรวม เป็นข้อได้เปรียบในการกู้เงินเข้ามาหมุนในธุรกิจ โดยมองข้ามความจริงที่ว่า สโมสรไม่ได้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
Photo : www.eurosport.com
ลีกที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ดำเนินทิศทางที่ต่างออกไป คือ บุนเดสลีกา ซึ่งทีมส่วนใหญ่มีเจ้าของถือหุ้นสโมสรตามกฎ 50+1 (กฎที่ให้แฟนบอลถือหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสร) แต่ทีมฟุตบอลจากเยอรมันไม่เคยใช้เงินเกินตัวแบบทีมจากสเปน เราจึงไม่เห็นข่าว บาเยิร์น มิวนิค หรือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ติดหนี้ท่วมหัวในปีนี้ เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับการบริหารรายรับรายจ่ายของสโมสรเป็นอันดับหนึ่ง
ถึงอย่างนั้นเราต้องยอมรับว่า บุนเดสลีกา และสโมสรฟุตบอลในเยอรมัน พัฒนาไปในทิศทางเดียวกันเสมอ และไม่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความผิดพลาดของ ลา ลีกา ที่ต้องการตัดแข้งตัดขา เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า มาตั้งแต่เริ่ม เพื่อแสดงอำนาจที่ไม่มีใครใหญ่ไปกว่าลีกการแข่งขันได้ นำไปสู่สงครามหน้าฉากและหลังฉากไม่จบไม่สิ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาลีกที่ควรจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน
โครงสร้างของ ลา ลีกา ที่อ่อนแอลงในปัจจุบัน ไม่ใช่ความผิดของใครนอกจาก “คนในทะเลาะกันเอง” ซึ่งสาเหตุเริ่มมาจากการบริหารที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นของลีกและสโมสร หลังจากนี้จึงเป็นงานยากของทั้งสองฝ่ายว่าจะกลับมาลงรอยและช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกันได้หรือไม่ ท่ามกลางหนี้ท่วมหัวของหลายสโมสร ซึ่งอาจนำมาสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอีกในอนาคต