จีนพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนระดับสูง ในอุจจาระของผู้ป่วยโรค “ไอบีดี” หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง

Home » จีนพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนระดับสูง ในอุจจาระของผู้ป่วยโรค “ไอบีดี” หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง



การปนเปื้อนของอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วหรือไมโครพลาสติกในธรรมชาติ ปัจจุบันทวีความรุนแรงถึงขั้นฝังตัวอยู่ในดิน น้ำ อากาศ ของทั่วทุกมุมโลก ซึ่งรวมถึงยอดเขาสูงที่สุดและใต้มหาสมุทรส่วนลึกที่สุดด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าในร่างกายของคนเราก็มีไมโครพลาสติกอยู่เช่นกัน โดยการปนเปื้อนระดับสูงนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพก็เป็นได้

ล่าสุดทีมนักวิจัยทางการแพทย์และสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยนานกิงและมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานกิงของจีน ตีพิมพ์รายงานการค้นพบในวารสาร Environmental Science & Technology โดยระบุว่าไมโครพลาสติกในปริมาณสูง อาจมีความเกี่ยวข้องกับการอักเสบของระบบทางเดินอาหารในมนุษย์ได้

  • นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในอุจจาระมนุษย์ทั่วโลก
  • มลภาวะไมโครพลาสติกเริ่มส่งผลเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
  • ไมโครพลาสติกฝังตัวในกระแสอากาศที่ไหลเวียนรอบโลกแล้ว

ผลการศึกษาตัวอย่างอุจจาระที่เก็บมาจากคนไข้โรคไอบีดี (Inflammatory Bowel Disease – IBD) หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจำนวน 52 คน พบว่าทุกคนล้วนมีอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรในอุจจาระ โดยปนเปื้อนในปริมาณที่สูงกว่าคนสุขภาพแข็งแรง 1.5 เท่า

ในจำนวนนี้ยังรวมถึงอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเป็นพิเศษซึ่งเล็กกว่า 5 ไมโครเมตร โดยพบการปนเปื้อนของอนุภาคพลาสติกชนิดนี้ในอุจจาระของผู้ป่วยโรคไอบีดีสูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่มีโรคเรื้อรัง

ผลการตรวจสอบพบว่า ที่มาของอนุภาคพลาสติกเหล่านี้พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของทุกคน โดยเป็นสิ่งปนเปื้อนจากการดื่มน้ำบรรจุขวด PET หรือการกินอาหารจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

ทีมผู้วิจัยยังพบว่า ยิ่งปริมาณของไมโครพลาสติกในอุจจาระมีสัดส่วนสูงขึ้นเท่าใด ผู้ป่วยก็จะยิ่งมีอาการของโรคไอบีดีรุนแรงขึ้นเท่านั้น โดยจะมีอาการท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด ปวดเกร็งในช่องท้อง เป็นไข้ มีอาการข้ออักเสบหรือตับอักเสบร่วมด้วย

ส่วนผู้ป่วยไอบีดีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโครห์น (Crohn’s disease) หากมีอาการอักเสบรุนแรงอาจทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายทะลุ และเกิดการติดเชื้อลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่นช่องคลอดหรือกระเพาะปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาครั้งนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ไมโครพลาสติกมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับโรคไอบีดีในลักษณะใด จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าไมโครพลาสติกเป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว นอกจากนี้ อาการป่วยจากโรคไอบีดีอาจทำให้ร่างกายของคนไข้ไม่สามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปได้ดีเท่าที่ควร จนพบการสะสมในปริมาณมากก็เป็นได้

ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า ไมโครพลาสติกเป็นสิ่งกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารเกิดอาการแพ้และอักเสบจริงหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการศึกษาที่สำคัญอย่างมาก ในขณะที่โลกมีผู้ป่วยไอบีดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2017 มีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคนี้ถึง 7 ล้านคนทั่วโลก

……

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ