จิราพร เย้ย 'ตู่' มือไม่ถึงจัดเอเปก จี้ลาออก เห็นแก่ประเทศ เปิดทางนายกฯคนใหม่

Home » จิราพร เย้ย 'ตู่' มือไม่ถึงจัดเอเปก จี้ลาออก เห็นแก่ประเทศ เปิดทางนายกฯคนใหม่


จิราพร เย้ย 'ตู่' มือไม่ถึงจัดเอเปก จี้ลาออก เห็นแก่ประเทศ เปิดทางนายกฯคนใหม่

จิราพร เย้ย รบ.เผด็จการไม่เหลือเครดิต เตือน ศึกษาข้อตกลง IPEF ให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด หวั่น “ประยุทธ์” มือไม่ถึงจัดเอเปก จี้ลาออกเปิดทางสรรหานายกฯ คนใหม่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ก.ย.2565 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ โดยสหรัฐฯ เป็นแกนนำในการจัดตั้งเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF เมื่อวันที่ 8-9 ก.ย.ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ

โดยสาระสำคัญมี 4 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการค้า ด้านห่วงโซ่อุปทาน ด้านพลังงานสะอาด ด้านภาษีและการต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะส่งผลต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกในอนาคต กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า อาจไม่ได้รับการผ่อนปรนทางการค้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ประเทศภาคีในกรอบ IPEF สามารถเลือกที่จะเข้าร่วมการเจรจาในเรื่องไหนก็ได้ โดยที่สมาชิกยังต้องทำตามมาตรฐานการค้าที่สูงของสหรัฐ หลายฝ่ายจึงมองว่า IPEF ดูเปิดกว้างแต่อาจเป็นเพียงกรอบความร่วมมือที่สหรัฐ ต้องการรักษาบทบาทนำในการค้าโลกหรือไม่

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลไทยมีกึ๋นมากพอ จะเป็นโอกาสของไทยในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐได้ โดยต้องจับมือกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลผลการเจรจาอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมากับคนไทย บอกถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ และแผนการเตรียมรองรับในอนาคต

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจามากที่สุด มิเช่นนั้นจะเหมือนกับที่รัฐบาลพยายามจะพาไทยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถอธิบายข้อมูลให้กับคนไทยได้อย่างชัดเจน

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ภายใต้บริบทการฟื้นตัวจากโควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตอาหารโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความท้าทายอีกหลายประการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไทยในฐานะที่อยู่ระหว่างจีนและสหรัฐ ต้องวางบทบาทตัวเองอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุลทางการเมืองและการค้ากับประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้าคนสำคัญของไทยอื่นๆ ด้วย

โดยสหรัฐฯ คาดว่าจะเจรจากรอบ IPEF แล้วเสร็จภายใน 12-18 เดือน หากยังเป็นการเจรจาภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ตนไม่อาจมั่นใจในฝีมือการเจรจาทางการค้า เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เพราะภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้แทบไม่เหลือเครดิตในการต่อรองเจรจาทางการค้ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ตนยังมีความเป็นห่วงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค หรือเอเปก ในเดือนพ.ย. เนื่องจากหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปกเมื่อช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ไทยไม่สามารถควบคุมการประชุมให้อยู่ในเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจการค้าได้ และในการประชุมรัฐมนตรีเอเปกวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 9-10 ก.ย. ที่จ.ภูเก็ต ประสบปัญหาเดียวกัน ประเทศสมาชิกหยิบยกประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในที่ประชุม จนทำให้ประเทศพันธมิตรจำนวน 6 ประเทศได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อต้านรัสเซียซึ่งเป็นชาติสมาชิกเอเปกอย่างต่อเนื่อง

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า ซึ่งเป็นการกดดันกลายๆ ให้ไทยในฐานะประธานต้องแสดงจุดยืนในประเด็นความขัดแย้ง หากไทยไม่มีความพยายามที่จะป้องกันหรือแก้ไขความขัดแย้งไม่ให้ที่ประชุมเอเปกกลายเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองของชาติสมาชิกซ้ำๆ ทุกการประชุมเช่นนี้ คาดการณ์ได้ว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่จะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ อาจจะเกิดปัญหา อาจทำให้เอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้มเหลว ไม่สามารถผลักดันให้เกิดฉันทามติในประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยให้ความสำคัญได้

“เห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบความตกลง IPEF หรือ การประชุมเอเปก ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ แต่เมื่อมองไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ มือไม่ถึงในเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงภาวะผู้นำ บริหารจัดการประชุมเอเปกกลับสู่กลไกปกติให้ได้ ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนที่ใช้ไป

การที่ไทยได้โอกาสในการเป็นประธานในการจัดเอเปก เป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีอยู่ ต้องเกิดประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยมากที่สุด แต่หากทำไม่ได้ก็ขอให้พิจารณาตัวเองว่าเหมาะสมจะเป็นรัฐบาลต่อหรือไม่ ทางที่ดีที่สุดหากเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนจริง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ ควรลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการสรรหานายกฯ คนใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาแทน” น.ส.จิราพร กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ