‘จิราพร’ เปิดเอกสารลับอสส. ท้วง ‘ประยุทธ์’ ใช้ม.44 ปมเหมืองอัครา ซัดอ้างรักชาติแต่เอาทรัพย์สินประเทศแลกพ้นผิดตัวเอง เตรียมยื่นปปช. ฟัน ‘นายกฯ’เข้าคุก
เวลา 12.55 น. วันที่ 21 ก.ค.65 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่า ในคดีเหมืองทองอัครา ตามข้อกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินใช้มาตรา 44 และมติครม. เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ออกคำสั่งระงับเหมืองแร่ทองคำจนผิดพลาดเสียหาย
และยังมีพฤติการณ์จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีพฤติกรรมเบี่ยงบังงบประมาณแผ่นดินและผืนแผ่นดินของประทศไปแลกเปลี่ยนกับบริษัทเอกชนต่างชาติเพื่อให้ตนเองพ้นผิดทางกฎหมายเข้าข่ายความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายการขัดกันต่อผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ทางการที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งที่72/2559 ถือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมาตรฐานทางจริยธรรม
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ตนจะใช้เอกสารลับด่วนที่สุดที่ได้นำมาอภิปรายในวันนี้เป็นตัวตั้งต้นในการดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเอกสารลับนี้ถูกร่างขึ้นโดยอสส. โดยข้อความในเอกสารได้ถูกนำส่งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ไทยถูกฟ้องร้องจากการใช้มาตรา 44
โดย อสส.มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นและว่าความให้กับรัฐบาลในฐานะทนายแผ่นดิน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ต้องรับฟังความเห็น ทั้งนี้ในเอกสารเป็นแนวทางในการแก้ข้อพิพาทที่ถูกบริษัทคิงส์เกต ซึ่งเอกสารเนื้อหาบางตอนที่ระบุว่า การทำเหมืองแร่อัครา ยังไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และการตรวจสอบสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าระดับโลหะหนักและสารเคมีที่ใช้จากการตรวจที่เกินจะอ้างอิงเกิดจากการปนเปื้อนของเหมืองทองคำของอัครา
ปรากฏว่าข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รายงานข้อพิพาทของไทยกับบริษัทคิงส์เกตไปยังครม. เมื่อวันที่ 29 ต.ค.62 ที่ระบุว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้ต่อสู่คดีในชั้นอนุโตตุลาการ นั่นแสดงว่าตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.58 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้องตรวจสอบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองของบริษัทอัคราถึงวันที่บริษัทคิงส์เกตตัดสินใจฟ้อง
ผ่านไป 4 ปีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนการใช้มาตรา 44 แต่ที่น่าอดสูใจคือในหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อับจนหนทาง ถึงที่ว่ามีความคิดที่ว่าจะสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ทำให้ฝ่ายกฎหมายของไทยเตือน
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่แก่ใจว่าเมื่อเรื่องเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ ไทยต้องเป็นฝ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับฟังคำคัดค้านของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความเห็นของอสส. จึงเกิดความเสียหายแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกมาก็ตาม แต่ก็ได้มีใบเสร็จความเสียหายจากการใช้มาตรา 44 ใบเสร็จแรกเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัทคิงส์เกต ปีงบประมาณ 2560-2564 จำนวน 731,130,000 บาท ใบเสร็จความเสียหายที่ 2 ภาคหลวงที่เก็บจากการประกอบเหมืองแร่ทองคำที่หายไปในช่วงที่มีคำสั่งปิดเหมืองอัคราตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ราวๆ 3 พันล้านบาท
น.ส.จิราพร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถต่อรองกับบริษัทคิงส์เกตได้ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่ตอนนั้นพล.อ.ประยุทธ์กลับปล่อยเวลาล่วงเลยจนไทยเสียหายและไปไม่เป็น จนต้องมาเจรจากับเขาเมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะแพ้คดี ซึ่งในบางข้อเรียกร้องที่บริษัทคิงส์เกตเสนอมาก็ได้ให้ไปเรียบร้อยแล้ว และเมื่อบริษัทคิงส์เกตกำลังรู้ว่าไทยตกเป็นเบี้ยล่างก็ได้ขึ้นขี่คอรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทันที ทางทนายของคิงส์เกตได้มีหนังสือถึงอนุญาโตตุลาการเนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า ได้ขอถอนการเคลมค่าเสียหายในข้อ 13 และข้อ 14 หลังจากที่ประเทศไทยได้เปิดทางให้นำผงทองคำมูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐไปขายได้
อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยได้อนุญาตให้บริษัทอัคราได้สิทธิ์การสำรวจแร่บนเนื้อที่ทั้งหมด 44 แปลง ยังไม่ทำให้บริษัทคิงส์เกตพอใจจนถึงขั้นยกเลิกการเรียกร้องค่าเสียหายตามคำสั่งฟ้องทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะให้สิทธิ์สำรวจ 44 แปลง แต่บริษัทอัคราก็ยังไม่สามารถประกอบกิจการได้ เพราะยังไม่ได้รับการต่ออายุบัตรประทานเหมือง ซึ่งจะทำให้เหมืองชาตรีที่ถูกปิดไปตั้งแต่ปี 2560 สามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง หากเป็นเช่นนี้ก็เพราะเขายังขี่คอรัฐบาล
ต่อมารัฐบาลไทยจึงต้องบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงเพิ่มเมื่อเดือนมกราคม 2565 เพื่อเปิดทางให้บริษัทเหมืองทองอัครากลับมาเปิดเหมืองทองชาตรี ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกต
โดยขณะนี้ทราบว่าบริษัทอัคราได้จ้างบริษัทซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเหมือง โดยมีค่าใช้จ่ายราว 500 ล้านบาท เป็นการกู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นที่น่าสนใจว่าการกู้เงินนี้ก็เคยเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกต ตนจึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเองมีส่วนเปิดทางให้บริษัทคิงส์เกตเข้ากู้ยืมเงิน 500 ล้านบาทด้วยหรือไม่
สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์มองคิงส์เกตเป็นเหมือง ส่วนคิงส์เกตมองประยุทธ์เป็นหมู เพราะบริษัทคิงส์เกต กำลังไล่ต้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต่อรองอะไรก็ได้ทั้งหมด และการที่รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องก็เป็นการนำทรัพย์สินของประเทศไปชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่จ่ายเป็นตัวเงินแลกกับการถอนฟ้อง เพื่อทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ การกระทำนี้เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญในเรื่องเข้าข่ายขัดผลประโยชน์
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า การเจรจาที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ ตนมีความสงสัยว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์กล่าวอ้างว่าการเจรจาครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประนีประนอมให้ถอนฟ้อง คำถามคือข้อเรียกร้องทั้งหมดของคิงส์เกต ที่มีแต่คิงส์เกตได้ประโยชน์แล้วไทยไปเจรจากับเขาได้ประโยชน์อะไรกับมา
ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์บอกตลอดว่าเข้ามาตำแหน่งนี้เข้ามาเสียสละ ที่อยู่ในตอนนี้ก็ทำเพื่อประเทศชาติไม่ได้ทำเพื่อตนเองเลย ช่วยตอบด้วยว่าที่พยายามไปเจรจากับเขา ไทยได้ประโยชน์อะไร คนรักชาติอย่างพล.อ.ประยุทธ์ คำพูดขัดกันมาก เราเพิ่งเคยเห็นคนรักชาติที่ไปประชุมระดับนานาชาติแล้วหาธงชาติไม่เจอ คนที่บอกว่าทำเพื่อชาติ แต่เอาผลประโยชน์ของชาติไปเสนอให้กับต่างชาติ เพื่อให้ตนเองรอดจากความผิดพลาด
ถ้าหลังการอภิปรายจบพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาตอบโต้ว่าตนเองไม่ได้ทำผิด เพราะได้ทำไปเพื่อแก้ปัญหาที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำเอาไว้ และการใช้มาตรา 44 สามารถแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้จริง ตนขอท้าให้ท่านไปแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) ว่าการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองทองคำเป็นผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และถ้าตนถามถึงค่าใช้จ่ายชดเชยพล.อ.ประยุทธ์อย่าตอบว่าใช้หนี้จำนำข้าวเหมือนครั้งที่แล้วอีก
“วันนี้เราอยากฟังความจริงว่าเมื่อไหร่เราจะหลุดพ้นจากสถานการณ์การตกอยู่เป็นตัวประกัน เป็นลูกไก่ในกำมือของบริษัทต่างชาติสักที ดังนั้น เหมืองทองอัคราไม่ใช่เรื่องเก่าแต่เป็นเรื่องเดิมที่ไม่ได้รับการแก้ไข และความเสียหายมากขึ้น ดิฉันมั่นใจว่ากฎหมายบ้านเมืองมีขื่อมีแป ด้วยหลักฐานที่ดิฉันมีจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสาวนข้อเท็จจริงกรณีออกคำสั่งที่ 72/2559 ตามมาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ และข้อมูลที่ดิฉันจะไปยื่นต่อป.ป.ช. เพื่อเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ จะสามารถทำให้พล.อ.ประยุทธ์ย้ายจากบ้านหลวงที่อยู่ในค่ายทหารไปอยู่บ้านหลวงหลังใหม่ ไฟฟรี น้ำฟรี ข้าวฟรี ที่เรียกว่าเรือนจำได้
ฝากไปยังพล.อ.ประยุทธ์ว่าท้ายที่สุดถ้าพล.อ.ประยุทธ์รอดจาการลงมติไม่ไว้วางใจได้ แต่จะไม่มีวันรอดพ้นจากการกระทำที่ทรยศชาติครั้งนี้ได้ และพรรคการเมืองไหนที่จะค้ำยันคนนี้อยู่ พวกท่านเข้าข่ายเป็นผู้ร่วมกระบวนการเอาเงินของประชาชนและทรัพย์สมบัติของประเทศชาติไปใช้ เพื่อการส่วนตัว ดังนั้น ดิฉันไม่อาจไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้” น.ส.จิราพร กล่าว