“ประวัติศาสตร์” มักถูกเขียนถึงจากหงาดเหงื่อ แรงกายของนักกีฬาที่ต้องเพียรพยายาม ทุ่มเทอย่างหนัก กว่าได้รับชัยชนะในเกมส์ที่ยิ่งใหญ่สุด
แต่การถูกลบออกจากประวัติศาสตร์ กลับกระทำได้อย่างง่ายดาย เพียงเพราะตัวหนังสือและกฏเกณฑ์บางอย่างของยุคสมัย บ่งชี้ว่าใครถูก ใครผิด ? ใครควรถูกจดจำและใครควรลืม
ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต “จิม โธรป” ได้รับการเชิดชูอย่างสูง จากความสำเร็จที่เขาทำได้ในโอลิมปิก เกมส์ เขากลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวอเมริกันอย่างไม่ต้องสงสัย
ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลาย เขาถูกริบเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ จากความผิดที่เขาใช้เวลาช่วงปิดเทอม ไปเล่นเบสบอลให้ลีกเล็ก ๆ ในท้องถิ่น ที่ให้ค่าตอบแทน คิดเป็นเงินปัจจุบันก็แค่ 30,000 บาทไทยต่อสัปดาห์เท่านั้น กลายเป็นรอยด่างมลทินของนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ ที่ถูกลบออกจากประวัติศาสตร์โอลิมปิก
จากเด็กเกเรสู่ยอดนักกีฬา
จิม โธรป เป็นชาวสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1887 โดยไม่ทราบวันเกิดที่แน่ชัด เขามีคุณพ่อเป็นชาวไอริช ส่วนคุณแม่มีเชื้อชาติชนพื้นเมืองอเมริกัน ครอบครัวโธรปเป็นชนชั้นแรงงาน แต่ก็ไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทอง สามารถส่งลูกเรียนหนังสือ
แต่เป็นตัว จิม โธรป ที่ไม่ชอบท่องตำรา หนุ่มน้อยรายนี้มักโดดเรียนเป็นประจำ และช่วงวัยเด็กเขามักมีปัญหาผู้เป็นพ่อบ่อยครั้ง
เมื่อไหรก็ตามที่สองพ่อลูกทะเลาะกัน หรือโธรปเบื่อที่จะเข้าเรียน เขามักจะหนีออกจากสถานศึกษา และบ้าน ไปทำงานในโรงเลี้ยงม้า ตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยที่ครอบครัวก็ตามตัวเขาไม่เจอ
ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอยู่หลายปี จนกระทั่ง โธรป วัย 16 ปีได้พบกับรักครั้งแรกของตัวเอง นั่นคืออเมริกันฟุตบอล เขาหลงใหลในเกมคนชนคนอย่างมาก ถึงขั้นไม่โดดเรียนอีกต่อไป เพราะกลัวจะไม่ได้เล่นกีฬานี้ ซึ่งมีพื้นที่เล่นแค่ในโรงเรียนเท่านั้น
หลังจากตั้งใจเล่นกีฬา พรสวรรค์ทางร่างกายของ โธรป แสดงออกมาชัดเจน โดยเฉพาะความรวดเร็วในการวิ่ง อีกทั้งยังมีความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นตำแหน่ง รันนิงแบ็ค หรือตัววิ่ง ของกีฬาอเมริกันฟุตบอล
โธรป จบการศึกษาในระดับไฮสคูล หรือมัธยมของสหรัฐฯ เมื่อตอนอายุปาเข้าไป 20 ปี ด้วยเกรดที่ย่ำแย่ แต่ความเก่งกาจด้านกีฬา ช่วยให้เขาได้เข้าเรียนต่อ กับวิทยาลัยคาร์ลไลล์ สถานศึกษาที่ให้ความรู้เฉพาะด้านกีฬาเท่านั้น คล้ายกับวิทยาลัยพลศึกษาของประเทศไทย
จิม โธรป ทุ่มสุดตัวกับการเล่นกีฬา เขาเป็นทั้งนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล, เบสบอล และลาคอสส์ ให้กับวิทยาลัย แต่ไม่มีเกมไหนจะทำให้เขาฉายแสงไปมากกว่ากีฬาคนชนคน เพราะเป็นการแข่งขันที่ช่วยให้โธรป แสดงศักยภาพได้ดีที่สุด
หนุ่มรายนี้สร้างชื่อของตัวเองอย่างช้า ๆ จนกระทั่ง ค.ศ. 1911 หรือปีที่ 4 ในรั้วอุดมศึกษา โธรป ติดทีมยอดเยี่ยมของอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย หรือ All-American เป็นครั้งแรก ก่อนจะได้ตำแหน่งนี้มาครองอีกครั้งในปี 1912
โธรป สร้างชื่อให้ตัวเองอย่างถึงที่สุด เมื่อเขาขึ้นชั้นเรียนปีที่ 5 เพราะย้อนไปยุคนั้น การทำระยะหลาในกีฬาอเมริกันฟุตบอลเป็นเรื่องยากกว่ายุคปัจจุบันหลายเท่าตัว แต่เขากลับโชว์ความสามารถ วิ่งทำทัชดาวน์เกิน 90 หลา ภายใน 2 เพลย์ติดต่อกัน โดยครั้งแรกเขาวิ่งถือบอลไป 92 หลา ก่อนที่ครั้งถัดมา จะวิ่งเข้าเอนด์โซนฝ่ายตรงข้าม ด้วยระยะ 97 หลา
การวิ่งถือบอลมากกว่า 90 หลา หมายถึงการพาบอลจากหน้าปากประตูแดนตัวเอง ไปถึงปากประตูฝ่ายตรงข้าม คือภาพที่ไม่เห็นกันบ่อยนัก ในกีฬาอเมริกันฟุตบอล แม้กระทั่งยุคปัจจุบันที่เอื้อให้ผู้เล่นทีมบุก โจมตีได้ง่ายขึ้นแล้วก็ตาม
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโชว์ความสามารถของ โธรป วิ่งยาวทำทัชดาวน์ จะโด่งดังมากแค่ไหน ในยุคที่เกมคนชนคน สามารถปะทะกันได้อย่างเต็มที่ ไม่มียั้งแบบปัจจุบัน
ชื่อเสียงของ จิม โธรป ดังกระฉ่อนไปทั่ว เขาได้รับการทาบทามให้มาแข่งกรีฑา เป็นตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกา ลุยโอลิมปิก 1912 เพราะใคร ๆ ก็เชื่อว่าผู้ชายคนนี้เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ทางร่างกาย ที่ไม่ได้หากันง่ายๆ
นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก
จิม โธรป ไม่ได้เดินทางสู่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เพื่อแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ในการแข่งขันวิ่งทั่วไป แต่ด้วยความสุดยอดทางร่างกาย ทำให้เขาคือตัวแทนชาวอเมริกัน ลงชิงชัยใน “ทศกีฬา และปัญจกีฬา” การแข่งขันกรีฑาที่รวมศาสตร์หลากหลายเอาไว้ด้วยกัน
สำหรับทศกีฬา จิม โธรป ต้องผ่านการแข่งขัน 3 รูปแบบ คือวิ่ง, กระโดด และขว้างจักร รวมเป็นการแข่งขันย่อยทั้งหมด 10 ด่าน
ยุคกรีกโบราณ “ทศกีฬา” ถูกยกให้เป็นกีฬาที่โหดสุด ผู้ชนะจึงมักได้รับการยอมรับว่าเป็น นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยในโอลิมปิก 1912 ได้มีการปัดฝุ่นนำเอา ทศกีฬา กลับมาจัดแข่งครั้งแรกรอบประมาณ 2,000 ปี นับตั้งแต่ยุคเข้าสู่ยุคคริสตศักราช
ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ไม่เคยผ่านสนามแข่งกีฬานี้มาก่อน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ คนที่แกร่งที่สุดจะเป็นผู้ชนะ และชายผู้นั้น คือ จิม โธรป
จากทั้งหมด 10 ด่าน จิม โธรป เข้าป้ายอันดับหนึ่ง ได้ถึง 8 ด่าน แน่นอนว่าเขาคว้าเหรียญทองไปครอง และได้รับการยกย่องให้เป็น นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ไม่เพียงเท่านั้น จิม โธรป ยังคว้าเหรียญทองมาจากการแข่งขันปัญจกีฬา ด้วยเช่นกัน
สำหรับ ปัญจกีฬา คือกีฬาที่ดัดแปลงมาจากทศกีฬาในอดีต มีการแข่งขัน 3 กีฬาเช่นเดิม คือวิ่ง, กระโดด และขว้างจักร แต่จะถูกลดการแข่งขัน ให้เหลือเพียง 5 ด่านเท่านั้น และในโอลิมปิก เกมส์ 1912 คือครั้งแรกที่มีการชิงชัยเหรียญรางวัลของ ปัญจกีฬา
10 ด่านยังหยุด จิม โธรป ไม่อยู่… คงไม่ต้องพูดถึงกีฬา 5 ด่านสนามเล็ก แน่นอนว่า ยอดนักกีฬาชาวสหรัฐฯ คว้าอันดับหนึ่ง ได้จากทุกการแข่งขัน คว้าเหรียญทองไปครอบครอง
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ จิม โธรป เดินทางกลับบ้านด้วยสถานะฮีโร่ตัวจริง ผู้คนชื่นชมในฐานะสุดยอดนักกีฬาแห่งยุคสมัย ในขบวนพาเหรดฉลองของนักกีฬาอเมริกัน
โธรป คือสตาร์ที่อยู่หน้าสุดของขบวน ได้ออกสื่อมากมาย เป็นผลพวงตามมาจากความสำเร็จของเขา ซึ่งไม่ได้นำมาแค่เรื่องดี ให้กับชายคนนี้
เหรียญทองที่หายไป
ความสำเร็จของ จิม โธรป กลายเป็นปรากฎการณ์ จากนักฟุตบอลธรรมดาในวิทยาลัย สู่ขวัญใจของคนทั้งชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสื่อจะไล่ขุดคุ้ยเรื่องราวของเขา เพราะมีแต่คนที่อยากรู้จักผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้น
เวลาล่วงเลยเข้าสู่ปี 1913 สื่อยังคงขุดคุ้ยเรื่องราวของ จิม โธรป กระทั่ง Worcester Telegram หนังสือพิมพ์จากรัฐแมสซาซูเซตส์ ได้ลงข่าวเกี่ยวกับยอดนักกีฬาคนนี้ ที่สร้างความตกตะลึงไปทั้งประเทศ
Worcester Telegram เล่นข่าวว่า ในปี 1909 และ 1910 จิม โธรป ได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปแข่งขันเบสบอลให้กับลีกท้องถิ่น ในเมืองร็อคกีเมาท์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ได้รับค่าตอบแทนคิดเป็นเงินยุคปัจจุบัน สัปดาห์ละ 960 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 บาทไทย
จะได้เงินเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ? แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ ณ เวลานั้น กฎของนักกีฬาสมัครเล่นสหรัฐอเมริกา ห้ามนักกีฬาทุกคนที่มีประวัติเคยรับเงินค่าตอบแทนจากการเล่นกีฬา หรือเข้าใจโดยง่ายคือ หากจะเป็นนักกีฬาสมัครเล่นของอเมริกา ต้องไม่เคยเป็นนักกีฬาอาชีพมาก่อน
ระบบการคัดเลือกนักกีฬาสมัครเล่นของสหรัฐฯ ในเวลานั้นไม่มีอะไรซับซ้อน พวกเขาดึงผู้เล่นจากระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นตัวแทนของชาติ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นนักกีฬาอาชีพ จนกว่าจะเรียนจบ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนักกีฬาชื่อดังจากระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ล้วนไปเล่นอาชีพตั้งแต่สมัยเรียน เพียงแต่พวกเขาใช้การตบตาด้านรายได้ รับเงินจากทีมกีฬา ผ่านชื่อของบุคคลอื่น ที่จะส่งต่อเงินก้อนนั้นมาให้ตัวเขาอีกที
ขณะที่วิธีการมีนายหน้าคอยป้องกันการถูกจับผิดเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จิม โธรป เลือกรับเงินค่าจ้างด้วยตัวเอง ไม่มีพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้มีหลักฐานมัดตัวแบบเต็ม ๆ กับการทำผิดกฎของการเป็นนักกีฬาอาชีพ
หลังจากข่าวได้ตีพิมพ์ออกมา คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้มากนัก เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่า นักกีฬามหาวิทยาลัยฝีมือดี ไปเล่นอาชีพรับเงินจากทีมกีฬาเป็นเรื่องปกติ หากแต่ สหภาพนักกีฬาสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกาไม่ได้คิดแบบนั้น และต้องการจะเอาผิดโธรปให้ได้
สุดท้าย สหภาพนักกีฬาสมัครเล่นสหรัฐฯ ตัดสินใจตัดสถานะภาพการเป็นนักกีฬาสมัครเล่นของ โธรป ย้อนหลัง ทำให้เขาถูกคณะกรรมการโอลิมปิกยึดเหรียญทองทั้งสองคืน เพราะชายคนนี้ไม่มีสถานะเป็นนักกีฬาตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ในปี 1912 อีกต่อไป
กว่าจะได้ความยุติธรรม
ทันทีที่ โธรป ถูกยึดเหรียญ สหภาพนักกีฬาสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นวายร้ายของสังคมทันที คนทั้งประเทศรุมโจมตีความเหตุผลของหน่วยงานนี้ ท้ายที่สุดต้องยอมคืนสถานะการเป็นนักกีฬาสมัครเล่นให้กับ จิม โธรป
อย่างไรก็ตาม การคืนสถานะ ไม่ได้ทำให้โธรปได้เหรียญทองคืน และท่าทีเจ้าตัวก็ไม่ได้สนใจเรื่องนั้นอีกแล้ว เขาประกาศชัดเจนว่า จะไม่กลับมารับใช้ชาติอีกต่อไป เพื่อเดินหน้าเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัว
แทนที่จะเล่นกีฬาที่เขารักอย่างฟุตบอล โธรป ตัดสินใจเป็นนักกีฬาเบสบอลที่ให้ค่าตอบแทนมากกว่า แต่สุดท้ายพรสวรรค์ทางร่างกายที่ติดตัวมาตลอด ทำให้ผู้ชายคนนี้รู้ว่า เขาไม่มีทางจะเป็นเลิศในการแข่งขันไหน ได้ดีกว่าเกมคนชนคนอีกแล้ว
ปี 1921 จิม โธรป เล่นในลีก NFL เป็นครั้งแรกด้วยวัย 34 ปี ทั้งที่อายุเยอะขนาดนี้ เขาสามารถติดทีมยอดเยี่ยม หรือ All-Pro ตั้งแต่ปีแรกของการเข้าร่วมลีก
หลังจากนั้นเป็นต้นมา จิม โธรป รับบทเป็นทั้งผู้เล่น และโค้ช ให้กับแฟรนไชส์อเมริกันฟุตบอล ก่อนจะเลิกเล่นอย่างเป็นทางการในปี 1928 ด้วยวัย 41 ปี พร้อมกับติดทีมยอดเยี่ยมประจำทศวรรษ
ชีวิตการเป็นนักกีฬาของชายที่ชื่อ จิม โธรป มีแต่เรื่องราวที่น่าจดจำ แต่ถึงจะยิ่งใหญ่เพียงไหน เขาไม่ได้เหรียญทองโอลิมปิกคืนกลับมาในช่วงชีวิตที่ยังมีลมหายใจ
จิม โธรป เสียชีวิตไปในปี 1953 ด้วยวัย 65 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังการจากไปของชายคนนี้ ผู้คนเริ่มรำลึกชื่อของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนสมาคมผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ ยกให้เขาเป็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
บวกกับกระแสของกีฬาสมัครเล่นในยุคนั้น ที่กลายเป็นเวทีการต่อสู้ทางการเมือง ตามบริบทโลกยุคสงครามเย็น จิม โธรป จึงกลายเป็นวีรบุรุษของชาวอเมริกันที่ถูกลืม และถึงเวลาที่สหรัฐจะทวงสิ่งที่ควรเป็นของเขากลับมาเสียที
ปี 1982 รัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการโอลิมปิก ขอเหรียญทองคืนให้กับ จิม โธรป ซึ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว นักกีฬาผู้ล่วงลับรายนี้กลับมาเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกอีกครั้ง แม้เขาจะไม่ได้อยู่รับเกียรติยศที่คืนกลับมาด้วยตนเองก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้เหรียญรางวัลกลับมา แต่ทุกวันนี้สถิติ ความยิ่งใหญ่ที่ จิม โธรป เคยทำไว้ในโอลิมปิก เกมส์ กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิก ไม่มีการพูดถึงสิ่งที่เขาได้สร้างไว้ ผ่านสื่อไหนของมหกรรมกีฬานี้
ถึงโอลิมปิกจะไม่ยอมรับ แต่ชื่อของ จิม โธรป ก็ยังคงถูกยกย่องจากชาวอเมริกันอยู่ตลอด ในฐานะนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ และต้นแบบของความเป็นเลิศในเกมการแข่งขันให้กับคนรุ่นหลัง
ชื่อเสียงของ จิม โธรป ถึงจะไม่ได้รับการเชิดชูอย่างที่ควรจะเป็น แต่ชื่อของเขา จะไม่ถูกลบออกจากประวัติศาสตร์ หรือไร้ตัวตนแบบที่ผ่านมา
เพราะคนรุ่นหลังยังคงบอกต่อเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของชายคนนี้ ที่ทำไว้ให้กับวงการกีฬา ไปอีกนานเท่านาน