จำไว้! วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักที่ถูกต้องที่สุด

Home » จำไว้! วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักที่ถูกต้องที่สุด
จำไว้! วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักที่ถูกต้องที่สุด

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการชัก เราได้ยินกันมาหลายอย่าง หลายทฤษฎี แม้ว่าหมอจะออกมาเตือน ออกมาบอกด้วยตัวเองแล้ว ก็ยังมีญาติผู้ป่วยบางรายเถียงกลับว่า ไม่ได้ ถ้าไม่มีทำแบบนี้อาการจะแย่ลงไปกว่าเดิม เอาเป็นว่าเราแนะนำให้ล้างสมองตัวเองไปเลย แล้วมาจำใหม่กันตั้งแต่ต้นว่า หากเกิดเหตุผู้ป่วยเป็นลมชักขึ้นมาจริงๆ เราควรจะทำอย่างไรถึงจะให้ผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยให้มากที่สุด

 

  1. สังเกตอาการชักของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับใด บางรายอาจชักด้วยอาการเหม่อลอย เริ่มกระตุก ท่าทางแปลกๆ ผิดปกติ ตาเหลือก อาจจะเริ่มทำท่าเหมือนเคี้ยวอะไรอยู่ หรือบางคนอาจจะเริ่มต้นด้วยอาการสับสนมึนงง พูดจาวกวนก่อนก็ได้ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการชัก
  2. สังเกตว่าผู้ป่วยมีสติสัมปะชัญญะหรือไม่ ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงกับขั้นสลบ แต่จะควบคุมตัวเองไม่ได้
  3. เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการชัก แล้วลงไปกองกับพื้น พยายามพาเขามาอยู่ในที่โล่งๆ ปลอดภัย ไม่มีสิ่งของใดๆ รอบตัว
  4. คลายกระดุม เนคไทที่คอเสื้อ คลายกระดุม เข็มขัดที่กางเกงหรือกระโปรง ถอดแว่นตา นำหมอน หรือเสื้อพับหนาๆ มารองไว้ที่ศีรษะ
  5. จับผู้ป่วยนอนตะแคง
  6. ไม่ง้างปาก ไม่งัดปากด้วยช้อน ไม่ยื่นอะไรให้ผู้ป่วยกัด ไม่ยัดปากด้วยสิ่งของต่างๆ เด็ดขาด ไม่กดท้อง ไม่ถ่างขา ไม่ทำอะไรทั้งนั้น
  7. จับเวลา ตามปกติผู้ป่วยลมชักจะมีอาการสงบลงได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 นาที หากมีอาการชักเกิน 5 นาทีควรรีบส่งแพทย์ (หรือกด 1669 บริการแพทย์ฉุกเฉิน)
  8. อย่าลืมอธิบายผู้คนรอบข้างด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น และขอความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น เช่น อย่ามุงผู้ป่วยใกล้ๆ หรือช่วยเรียกรถพยาบาลกรณีที่ผู้ป่วยชักเกิน 5 นาที หรือมีอาการบาดเจ็บ

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยลมชักมีอาการกัดลิ้นตัวเอง ไม่ต้องตกใจ โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้กัดลิ้นตัวเองจนขาดหรือมีบาดแผลใหญ่มากนัก อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เผลอกัดลิ้นตัวเองจนได้รับบาดแผล มีเลือดออก แต่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิตมากเท่ากับการยัดสิ่งต่างๆ เข้าไปในปากของผู้ป่วย ด้วยหวังว่าจะให้กัดแทนลิ้น เพราะมีหลายครั้งที่สิ่งของเหล่านั้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บหนักกว่าเดิม แผลที่กัดลิ้นใหญ่กว่าเดิม หรือผลัดหลุดเข้าไปติดในหลอดลม หลอดอาหาร

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ