ในเสวนา “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆไป) ไว้ได้อย่างไร” ซึ่งจัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวาระ 91 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2566 การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการกระทำรัฐประหาร ในปี 2549 รวมถึงปี 2557 จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่บิดเบือนจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมากที่สุด โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นเพื่อไม่ให้ประชาธิปไตยอยู่ในมือประชาชนมากที่สุด โดยมีการกำหนดกติกาที่ซับซ้อน
ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถสืบทอดและใช้อำนาจในการควบคุมองค์กรอิสระได้แบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ประเทศไทยก้าวถอยหลัง การต่อสู้ของประชาชนยากขึ้น แต่จากการเลือกตั้งล่าสุดสะท้อนว่าประชาชนตื่นตัว มีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งในระบบรัฐสภามากขึ้น แสดงออกด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ยึดอำนาจสามารถกลับมาได้อีก
แต่ต้องยอมรับว่าจากรัฐธรรมนูญที่มีความบิดเบี้ยวให้อำนาจ สว. 250 เสียง มีบทบาทในรัฐสภาทำให้เสียงฝ่าย ประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นคนเลือก ทำงานยากขึ้น การจะรักษาชัยชนะในครั้งนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องมีจุดยืนที่มั่นคง จะต้องไม่ทำให้เกิดการสลับขั้วย้ายข้าง ทำให้เสียง 313 เสียงสามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชนให้ได้ และจะต้องทำให้ประชาชนไม่ยอมรับการกลับมาของฝ่ายเผด็จการอีก ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องมีเอกภาพ มีจุดยืนในการทำงานที่มั่นคง แก้ไขความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็นของประชาชนให้ได้อีกครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าทำยากหากยังมีสว. 250 เสียง
ด้านนายสัตวแพทย์ ปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารฯ และ ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พักก้าวไกลยังคงมีจุดยืนที่ชัดเจน ถึงแม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่จะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนให้ได้มากที่สุดโดยยังมุ่งในการแก้ไข 3 เรื่อง คือ การเอากองทัพออกจากการเมืองให้ได้ กระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง และยุติเศรษฐกิจแบบทุนผูกขาดให้ได้
หากทำได้จะถือเป็นชัยชนะระยะยาวของประชาชน ซึ่งจิ๊กซอว์ของชัยชนะคือประชาชนจะต้องกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาให้ได้ทำให้มั่นใจว่าพรรคการเมือง เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ทำให้การเลือกตั้งชนะได้ด้วยการไม่ซื้อเสียงเพื่อ ทำให้ชนชั้นนำไม่มีเงื่อนไขกับประชาชน และผู้แทนในรัฐสภาจะต้องกลับมาเป็นผู้แทนที่ทรงเกียรติเกรงใจประชาชนมากกว่าเกรงใจผู้มีอำนาจหรือนายทุน
โดยมองว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องใช้ความอดทนและความพยายามเพราะเกมการเมืองในครั้งนี้เชื่อว่าเป็นเกมยาว ต้องอดทนกับแรงยั่วยุ อดทนกับการใช้ความรุนแรง และอดทนกับการถูกบีบจากผู้มีอำนาจเก่า และความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคการเมืองถูกยุบ ได้ง่าย