จาก Squid Game ถึงร่างทรง: "มาดามเดียร์" ชงยกระดับอุตสาหกรรมสื่อสร้าง Soft Power

Home » จาก Squid Game ถึงร่างทรง: "มาดามเดียร์" ชงยกระดับอุตสาหกรรมสื่อสร้าง Soft Power
จาก Squid Game ถึงร่างทรง: "มาดามเดียร์" ชงยกระดับอุตสาหกรรมสื่อสร้าง Soft Power

นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว “Sanook News” วิเคราะห์ปรากฎการณ์สื่อจาก Squid Game ซีรีส์เกาหลีใต้ที่มีผู้ชมสูงสุดในเน็ตฟลิกซ์ สู่ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง ที่กลายเป็นที่พูดถึงทั้งในไทยและประเทศเกาหลีใต้ เห็นว่า จุดอ่อนของอุตสาหกรรมสื่อไทยคือบท หากได้คนเขียนบทที่เก่งก็จะทำให้ผลงานที่ออกมาครบรส นำเสนอมุมมองได้หลากหลายและน่าสนใจ แต่ในขณะที่โปรดักชั่นก็สำคัญ

ยกตัวอย่าง ตนเคยคุยกับผู้ประกอบการสื่อสารคดีของจีนเมื่อราว 10 ปีก่อน เขาจ้างบริษัทต่างชาติเข้ามาทำสารคดี โดยให้คนจีนเข้าไปเป็นลูกมือเพื่อเรียนรู้ และทุกวันนี้เราจะเห็นการพัฒนาของอุตสาหกรรมสื่อจีนอย่างชัดเจน ซีรีส์บางเรื่องคุณภาพไม่ต่างกับเกาหลี ด้านสหรัฐอเมริกา จากประเทศที่ไม่ได้มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม กลับสร้างซูเปอร์ฮีโร่และฮอลลีวูด ส่งออกผลงานไปทั่วโลกเป็นเหมือนการตลาดให้คนเข้ามาสนใจสิ่งอื่นๆ ในประเทศ

 

ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เคยโต ตอนที่โรงภาพยนตร์ขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้า ทุกวันนี้ก็ถึงจุดอิ่มตัว สมมติว่าผู้สร้างคาดหวังรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็จะสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท แล้วจะเหลือแบ่งมาใช้สำหรับการจ้างคนเขียนบทเก่งๆ ใช้เวลานานๆ หรือแม้แต่กราฟฟิกเจ๋งๆ ที่ราคาเกือบล้านต่อนาทีได้อย่างไร ขณะที่ค่านิยมของคนทำงานด้านนี้คือ ถ้าอยากได้เงินเยอะก็ต้องเป็นผู้กำกับ แม้จะเขียนบทเก่ง แต่เขียนบทไปก็ไม่มีทางรวย เท่ากับว่า “เราเสียคนเขียนบทเก่งๆ ไปหนึ่งคน เพื่อได้ผู้กำกับห่วยๆ มาแทน”

วทันยา เสนอว่าเราต้องยกระดับอุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบ ซึ่งตนเคยพาเครือข่ายภาพยนตร์ไทยเข้าพบนายกรัฐมนตรี เสนอตั้งกองทุนยุทธศาสตร์ Soft Power ตั้งสถาบันผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ผลิต 40% ในส่วนที่คาดว่าจะขาดทุน เพื่อให้ผู้ผลิตเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนกับบท และโปรดักชั่นต่อ และเมื่อคุณภาพของภาพยนตร์ดีขึ้น ตลาดก็จะสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง แต่โครงการนี้ก็ยังค้างอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งที่เสนอไปตั้งแต่ปี 2563 ตนจึงอยากเสนอว่า รัฐบาลควรให้คนที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจจริงในด้านนี้มาบริหารงานด้านวัฒนธรรม ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนะรรม กีฬา และการท่องเที่ยวก็จะมาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาจริงๆ ไม่อย่างนั้นอุตสาหกรรมสื่อไทยก็จะไม่ไปถึงไหน ทั้งที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อ

เมื่อถามถึงกรณีที่ “คำผกา” เสนอใช้พุทธพาณิชย์และของขลังส่งออกสู่ตลาดโลก วทันยาเห็นแย้งว่า หากทำให้บิดเบือนหลักธรรมของพุทธศาสนา ทำให้คนงมงาย หรือเอาไปใช้ในทางที่ผิดก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นการกระตุ้นให้คนอยากศึกษาหลักพุทธศาสนาต่อก็สนับสนุน อย่างไรก็ตามมองว่าอาหารไทย สตรีทฟู้ด และสมุนไพร ที่นำไปสู่ที่มาทางวัฒนธรรมเหมาะที่จะใช้เป็น Soft Power ที่ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า เพราะนอกจากจะเป็นการตลาดให้ต่างชาติหันกลับมาสนใจประเทศไทย ยังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร เพราะประชากรของไทย 30-40% ก็ยังทำอาชีพเกษตรกรรม เท่ากับจะเป็นการกระจายรายได้ไปในตัว

ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ