การคว้าแชมป์ลีก ย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุดของสโมสรฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคว้าแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบหลายปี ที่สื่อถึงอนาคตอันสดใสเบื้องหน้า
แต่สำหรับ อินเตอร์ มิลาน การคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาล 2020-21 กำลังเป็นจุดจบของหลายสิ่ง เริ่มจาก อันโตนิโอ คอนเต้ เฮดโค้ชของทีม ตามมาด้วยนักเตะอีกหลายราย ที่จะถูกขายทอดตลาด เพื่อหารายได้เข้าสู่สโมสร
เกิดอะไรขึ้นกับสโมสรแห่งนี้ ? Main Stand จะพาคุณไปชมสิ่งที่เกิดขึ้นกับยักษ์ใหญ่ของฟุตบอลอิตาลี ที่ใช้เงินซื้อนักเตะไม่อั้นจนคว้าแชมป์ลีก ก่อนสถานการณ์จะพลิกจากหน้าเป็นหลังมือ ถูกทุนจีนลอยแพ และเผชิญหน้าหนี้ 600 ล้านยูโร จนเสี่ยงกับภาวะทีมแตก ในช่วงซัมเมอร์นี้
ทุนหนาจากแดนมังกร
ย้อนกลับไปในปี 2016 อินเตอร์ มิลาน อดีตมหาอำนาจลูกหนังอิตาลี ที่ครองความยิ่งใหญ่ในเซเรีย อา ด้วยตำแหน่งแชมป์ลีก 5 สมัยซ้อน (2006-2010 โดยปี 2006 ทางลีกมอบแชมป์ให้แทน ยูเวนตุส แชมป์ตัวจริง ที่ถูกปรับตกชั้นจากคดีล้มบอล) รวมถึงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2010 กำลังตกต่ำแบบกู่ไม่กลับ ภายใต้การบริหารของ เอริค โธเฮียร์ นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย ที่เข้ามาเทคโอเวอร์ทีมจาก มัสซิโม โมรัตติ ตั้งแต่ปี 2013
จากที่เคยเป็นขาประจำในฟุตบอลยุโรป ทัพงูใหญ่ร่วงหล่นถึงกลางตาราง จากการคว้าอันดับ 9 ในปี 2013 และอันดับ 8 ในปี 2015 และเมื่อมองภาพรวมของอินเตอร์ มิลาน ในยุคของโธเฮียร์แล้ว สโมสรแห่งนี้ไม่เคยก้าวสู่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แม้แต่ครั้งเดียว
ท่ามกลางช่วงเวลาอันมืดหม่นที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ข่าวใหญ่สะเทือนวงการฟุตบอลก็เกิดขึ้น เมื่อ “ซูหนิง กรุ๊ป” กลุ่มทุนจากประเทศจีน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรแห่งนี้ ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 ด้วยการถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงิน 270 ล้านยูโร หรือราว 1 หมื่นล้านบาท
การเปลี่ยนเจ้าของสโมสร อาจสร้างความยินดีแก่แฟนอินเตอร์บางกลุ่มได้บ้าง แต่มีจำนวนไม่น้อยที่มองว่า นี่อาจเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” เพราะทั้งก่อน และหลังการเข้ามาของ ซูหนิง กรุ๊ป … กลุ่มทุนจากประเทศจีน สร้างชื่อเสียไม่น้อยจากการเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลในยุโรป
ไล่ตั้งแต่ หลี่ หยงหง เจ้าของธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศจีน ที่เข้ามาบริหาร เอซี มิลาน จนติดหนี้หัวโต และถูกควบคุมกิจการ, โทนี่ เซีย เจ้าของทีม แอสตัน วิลล่า ที่ต้องขายทีมในภายหลัง เนื่องจากหมดปัญญาใช้หนี้ 30 ล้านปอนด์ หรือ การเข้ามาถือหุ้นของบริษัทพลังงานจากรัฐบาลจีน ในสโมสร สลาเวีย ปราก ซึ่งยุติลงดื้อ ๆ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่สั่นคลอน
แต่ ซูหนิง กรุ๊ป ไม่ใช่ทุนกำมะลอ แบบที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ พวกเขาคือบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน ที่เติบโตจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเติบโตสุดขีดในยุค 90s เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนขยายตัว และเมืองหนานจิงที่เป็นฐานของบริษัท ก็เป็นเมืองที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ส่งผลให้สินค้าของซูหนิงขายดีเทน้ำเทท่า
ปี 2004 ซูหนิง กรุ๊ป จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ บริษัทเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากกลยุทธ์ตัดราคาคู่แข่ง จนมีร้านค้ามากกว่า 1,600 แห่ง ที่ครอบคลุมมากกว่า 700 เมือง ทั่วประเทศ และยังเพิ่มความแข็งแกร่ง ด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 ของจีน
ผู้นำของซูหนิง กรุ๊ป คือ จาง จินตง ซึ่งในเวลานั้น ไม่ได้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ในซูหนิง แต่ยังลงทุนกับหลายบริษัทชั้นนำ เช่น เอเวอร์แกรนด์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เบอร์หนึ่งของจีน และยังเป็นเพื่อนสนิทกับ แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีเจ้าของเว็บไซต์อาลีบาบา ซึ่งมีหุ้นใน ซูหนิง กรุ๊ป ด้วยเช่นกัน
ซูหนิง กรุ๊ป ยังเป็นเจ้าของธุรกิจช่องโทรทัศน์ PPTV ที่ถือครองลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2019 (สัญญาบรรลุในปี 2016) โดยเงินที่พวกเขาจ่ายไปในดีลนี้ คือ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ามากกว่าเงินที่พวกเขาซื้อ อินเตอร์ มิลาน เกิน 2 เท่า
ยิ่งไปกว่านั้น ซูหนิงแสดงให้เห็นอำนาจทางการเงินของบริษัท ในโลกลูกหนังแดนมังกร ด้วยการยืนยันจาก Forbes ในปี 2015 ที่ชี้ชัดว่า “เจียงซู ซูหนิง” คือสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงถึง 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายรับ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีดังกล่าว
ก่อนที่พวกเขาจะทุ่มเงินซื้อ รามิเรส อดีตกองกลางของ เชลซี เข้ามาสู่ทีมด้วยค่าตัว 28 ล้านยูโร และ อเล็กซ์ เตเซรา จาก ชัคตาร์ โดเนตส์ค ด้วยค่าตัว 50 ล้านยูโร เมื่อปี 2016
ขนาดทีมฟุตบอลจีนยังทุ่มขนาดนี้ แล้ว อินเตอร์ มิลาน จะทุ่มขนาดไหน … การเข้ามาของ ซูหนิง กรุ๊ป จึงวาดฝันหวานให้แก่แฟนอินเตอร์ มิลาน ทั่วโลก ถึงความสำเร็จที่กำลังจะกลับมาสู่สโมสรอีกครั้ง ซึ่งความจริงก็เป็นดั่งที่พวกเขาคาดการณ์ แต่ใครจะรู้ว่า ความสุขนั้นอยู่ไม่นานอย่างที่ทุกคนคิด
ทุ่มหนักเกินกำลัง
ตลอดระยะเวลาที่ ซูหนิง กรุ๊ป บริหารสโมสรอินเตอร์ มิลาน พวกเขาทุ่มเงินมากกว่า 700 ล้านยูโร (ไม่หักลบกับรายรับ) เพื่อซื้อนักเตะชื่อดังอย่าง โรเมลู ลูกากู, คริสเตียน เอริคเซ่น และ เลาตาโร่ มาร์ติเนซ เข้ามาสู่ทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟนงูใหญ่ไม่เคยสัมผัส ในยุคของโธเฮียร์
แม้ผลงานในฤดูกาลแรก ๆ จะไม่เข้าที่เข้าทาง แต่หลังจากการเข้ามาของ สตีเวน จาง ลูกชายของ จาง จินตง ที่ขึ้นรับตำแหน่งประธานสโมสร ในเดือนตุลาคม ปี 2018 หลังกลับคืนสู่ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เมื่อฤดูกาลก่อน เป้าหมายเดียวที่ซูหนิงตั้งไว้ จึงหนีไม่พ้น สคูเด็ตโต้ หรือ ตำแหน่งแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา
ฤดูกาล 2019-20 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทวงคืนความสำเร็จของอินเตอร์ มิลาน ภายใต้การนำของซูหนิง กรุ๊ป พวกเขาปลด ลูเซียโน่ สปัลเล็ตติ ออกจากตำแหน่งเฮดโค้ช หลังพาทีมจบแค่อันดับ 4 ในฤดูกาลก่อน และแต่งตั้ง อันโตนิโอ คอนเต้ เฮดโค้ชมากฝีมือ ที่ประสบความสำเร็จจากการคว้าแชมป์เซเรีย อา 3 ปีซ้อนกับ ยูเวนตุส และพรีเมียร์ลีก รวมถึงเอฟเอ คัพ กับ เชลซี
การเข้ามาของคอนเต้บ่งบอกถึงความทะเยอทะยานของสโมสรได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนรู้ดีว่า เฮดโค้ชชาวอิตาลีรายนี้ เลือกคุมแต่ทีมศักยภาพสูง ที่มีสิทธิลุ้นแชมป์ลีกทุกปีเท่านั้น ซึ่งซูหนิงก็ตอบโจทย์ความต้องการของคอนเต้แบบจัดหนัก ทุ่มเงินมหาศาล เพื่อสร้างสรรค์ อินเตอร์ มิลาน ที่น่ากลัวที่สุดในรอบสิบปี
นอกเหนือจาก ลูกากู, เอริคเซ่น และมาร์ติเนซ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ขุนพลงูใหญ่ในฤดูกาลดังกล่าวประกอบด้วยแข้งคุณภาพดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มิลาน สครีเนียร์, สเตฟาน เดอ ไฟร์จ, อเลสซานโดร บาสโตนี่, นิโกโล่ บาเรลล่า หรือ มาร์เซโล โบรโซวิช จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะมองว่า อินเตอร์ มิลาน ควรมีถ้วยติดมือในปี 2020
ทัพงูใหญ่เกือบไปถึงฝั่งฝัน ก่อนพลาดหวังด้วยการแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ยูโรปา ลีก แก่ เซบียา ราชาถ้วยนี้ด้วยสกอร์ 2-3 แต่ความผิดหวังครั้งนั้นไม่ทำให้ซูหนิงท้อใจ พวกเขายังทุ่มหนักอีก 105 ล้านยูโร เพื่อซื้อนักเตะในตลาดหน้าร้อน ฤดูกาล 2020-21 นำโดย อัชราฟ ฮาคิมี่ และ นิโกโล่ บาเรลล่า ทั้งที่ในขณะนั้น วิกฤติไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบแก่ธุรกิจฟุตบอลทั่วโลกแล้ว
แต่ด้วยความอยากได้แชมป์จนหน้ามืด ซูหนิงมองข้ามปัญหาการเงิน และไปต่อกับโปรเจ็กต์เดิมที่ตั้งใจไว้ ซึ่งในท้ายที่สุด พวกเขาประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง เมื่อ อินเตอร์ มิลาน คว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาล 2020-21 มาครองได้สำเร็จ นับเป็น สคูเด็ตโต้ แรกในรอบ 11 ปี ของสโมสร
เกียรติยศครั้งนี้ควรช่วยให้ ซูหนิง กรุ๊ป ถูกเทิดทูนจากแฟนฟุตบอลท้องถิ่นดั่งพระเจ้า แต่เรื่องกลับพลิกตาลปัตร เพราะสิ่งที่ อินเตอร์ มิลาน ต้องแลกมากับความสำเร็จเพียงครั้งเดียวของสโมสร คือความเสียหายเกินกว่าที่ใครจะแก้ไขได้ไหว
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด
ก่อนสโมสรฟุตบอลทั่วโลกจะเจอกับปัญหาการเงิน ในช่วงวิกฤติ COVID-19 อินเตอร์ มิลาน ถือเป็นสโมสรที่เผชิญกับปัญหาตรงนี้ มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น
หลังจบฤดูกาล 2019-20 อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนจากการทำธุรกิจเป็นเงิน 100 ล้านยูโร หรือเกือบ 4 พันล้านบาท นับเป็นหนึ่งในความล้มเหลวทางตัวเลขครั้งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลยุโรป
ก่อนที่สถานการณ์ของสโมสรแย่หนักลงไปในฤดูกาลถัดมา ภายในเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนตุลาคม 2020 อินเตอร์ มิลาน ขาดทุนถึง 62.7 ล้านยูโร มากกว่าช่วงเวลานี้ เมื่อปีก่อนหน้า ถึงเท่าตัว
ความผิดพลาดในการบริหารการเงินภายในองค์กร นับเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่กำลังพาทีมลงสู่หุบเหว แต่ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ ซูหนิง กรุ๊ป กำลังเผชิญหน้าในประเทศจีน
หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศจีน เป็นรัฐที่ปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์รัฐเดี่ยว แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว จีนเลือกใช้ระบบทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ระบบเศรษฐกิจที่รัฐมีบทบาทอย่างแข็งขัน ในการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ผ่านการใช้รัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ หรือ มีการจัดการธุรกิจโดยรัฐเพื่อแสวงหาผลกำไรแก่ประเทศ
สิ่งที่ระบบทุนนิยมโดยรัฐเกลียดชังมากที่สุด คือ ความร่ำรวยของบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบริษัทเหล่านี้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไปกับการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ กล่าวคือ ไม่สามารถสร้างผลกำไรกลับคืนสู่จีนได้เลย
ปี 2018 รัฐบาลจีนจึงออกนโยบาย “กั๋วจิ้นหมินถุย” คือ การแปลงบริษัทเอกชนให้เป็นของธุรกิจของรัฐ โดยรัฐบาลจีนกล่าวว่า บริษัทเอกชนเหล่านี้มีหนี้สินมากเกินไป ส่งผลให้รัฐต้องเข้ามาควบคุมกิจการ หรือพูดง่าย ๆ คือ “ยึด” บริษัทเหล่านั้นมาเป็นของตัวเอง
ซูหนิง กรุ๊ป ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่รัฐบาลจีนจับตามอง เพราะนับตั้งแต่วิกฤติ COVID-19 เป็นต้นมา รายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซของพวกเขาลดหายจนน่าตกใจ
แต่ถึงอย่างนั้น ซูหนิงกลับไม่เรียกเงินลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อยู่ในบริษัท เอเวอร์แกรนด์ กลับมา เนื่องจากมั่นใจในความแข็งแกร่งของธุรกิจดังกล่าว แม้ปัจจุบัน เอเวอร์แกรนด์ เปลี่ยนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่ง สู่บริษัทที่มีหนี้สินมากที่สุดในประเทศจีน
สิ่งที่ซูหนิงพอจะทำได้ คือการตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น หนึ่งในนั้น คือ การยกเลิกสัญญาถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในปี 2020 ซึ่งซูหนิงเลือกจ่ายเพียง 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากของเดิมที่ตัวเลขสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของซูหนิงแย่ลงมากในปี 2021 เนื่องจากพวกเขามีกำหนดชำระหนี้ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลกระทบจึงตกสู่วงการกีฬาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซูหนิง กรุ๊ป ตัดสินใจยุบสโมสร เจียงซู ซูหนิง หลังคว้าแชมป์ไชนีส ซูเปอร์ลีก 2020 เพียง 4 เดือน แถมยังเป็นการยุบทั้งสายน้ำ กล่าวคือ ทีมชุดใหญ่ ทีมเยาวชน หรือแม้แต่ทีมหญิง ก็ไม่เหลือ ท่ามกลางรายงานว่า ซูหนิงยังคงค้างค่าเหนื่อยของนักเตะต่างชาติในทีม
ซูหนิง กรุ๊ป พยายามดิ้นรนทุกทาง เพื่อหลีกหนีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด แต่จนแล้วจนรอด พวกเขาก็หนีเงื้อมมือมัจจุราชไม่พ้น วันที่ 1 มีนาคม ซูหนิงตัดสินใจขายหุ้น 23 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทแก่รัฐบาลเมืองเสิ่นเจิ้น คิดเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 72,000 ล้านบาท
การเข้ามาควบคุมกิจการของรัฐบาลจีน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของ ซูหนิง กรุ๊ป ถูกตัดออกแทบทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ อินเตอร์ มิลาน ที่แม้จะคว้าแชมป์ลีกมาหมาด ๆ แต่ตอนนี้ พวกเขาถูกตัดหางปล่อยวัดจากบริษัทแม่ และต้องรับมือกับปัญหาหนี้สินที่ก่อตัว แต่เพียงผู้เดียว
อนาคตของอินเตอร์ มิลาน
ปัจจุบัน อินเตอร์ มิลาน มีหนี้สินสะสมในสโมสรอยู่ราว 600 ล้านยูโร ตามรายงานของ la Repubblica หนังสือพิมพ์ชื่อดังจากประเทศอิตาลี และยังมีกำหนดต้องชำระหนี้จำนวน 295 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022
อินเตอร์ มิลาน แก้ปัญหาตรงนี้ ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด นั่นคือการ “กู้” เงินจำนวน 275 ล้านยูโร จากสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดชำระหนี้ตรงนี้ภายในสามปี หรือภายในปี 2024
สิ่งที่ อินเตอร์ มิลาน กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ การกู้เงินจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เพื่อไปใช้หนี้ของสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งไปเรื่อย ๆ กล่าวตามภาษาชาวบ้านคือ วิ่งหมุนเงินมาจ่ายหนี้ให้วุ่น แต่หนี้ที่ค้างอยู่จริงแทบไม่ลดลงเลย
ตอนจบที่เลวร้ายที่สุดของ อินเตอร์ มิลาน คงหนีไม่พ้นการถูกควบคุมกิจการโดยบรรดาเจ้าหนี้ ซึ่งคู่ปรับร่วมเมือง เอซี มิลาน เคยประสบด้วยตัวเองในปี 2018
ทางออกที่ดีที่สุดของ อินเตอร์ มิลาน ตอนนี้ มีอยู่สามตัวเลือก อย่างแรกคือ การหาแหล่งเงินทุนเข้ามาสนับสนุนในระยะยาว
แบบที่สอง คือ การหาพันธมิตรใหม่ที่มีความแข็งแกร่งกว่า Lion Rock Capital บริษัทจากเกาะฮ่องกง ที่ถือหุ้น 31 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2019 และสามารถขายหุ้นส่วนนี้แก่ ซูหนิง กรุ๊ป ในราคาเพียง 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งซูหนิงคงไม่ซื้อหุ้นส่วนนี้ จากปัญหาการเงินที่บริษัทเผชิญหน้าอยู่
ทางเลือกสุดท้าย คือ การขายสโมสรแก่นายทุนรายอื่น ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสาวกงูใหญ่ทุกคน แต่โอกาสจะเกิดขึ้นคงมีไม่มากนัก เพราะซูหนิงต้องการค่าตอบแทนเป็นเงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การเจรจาช่วงกลางฤดูกาล ล้มครืนไม่เป็นท่า
“เป็นเรื่องจริงที่สโมสรแห่งนี้ เกือบถูกขายในช่วงกลางฤดูกาล” ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ ตำนานนักเตะ และรองประธานสโมสร อินเตอร์ มิลาน กล่าว
“ปัญหาการเงินของเรายังคงอยู่ต่อไป และอาจใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อทำให้ตัวเลขกลับมาลงตัวอีกครั้ง ตอนนี้เราต้องการให้แฟนบอลกลับสู่สนาม เพื่อทำให้สปอนเซอร์ของเราแฮปปี้ กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง”
การโบกมือลาของ อันโตนิโอ คอนเต้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสโมสรแห่งนี้ เพราะ สตีเวน จาง กางแผนสำหรับฤดูกาล 2021-22 กับการขายผู้เล่นให้ได้กำไรราว 80 ถึง 100 ล้านยูโร รวมไปถึงการลดค่าเหนื่อยของนักเตะ 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่จ่ายอยู่
ไม่มีใครรู้ว่า จะมีนักเตะของ อินเตอร์ มิลาน ถูกขายออกไปสักกี่คน แต่สิ่งที่แฟนบอลทั่วโลกรู้แน่ชัดคือ ยุคทองของสโมสรแห่งนี้ ที่กลับมาอีกครั้งหลังรอคอยนานนับสิบปี ได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น จากการใช้จ่ายแบบไม่คิดหน้าหลังของสโมสร
ฤดูกาล 2020-21 จึงกลายเป็นขวบปีที่หวานอมขมกลืนของ อินเตอร์ มิลาน รอยยิ้มจากการคว้าสคูเด็ตโต้ และคราบน้ำตาจากอนาคตที่ไม่แน่นอนของสโมสร ผสมปนเปกันจนแยกความรู้สึกไม่ออก
การคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา ของ อินเตอร์ มิลาน จึงไม่ใช่แนวทางที่สโมสรอื่นควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ถือเป็นอีกครั้งที่โลกฟุตบอลมอบบทเรียนแก่ผู้คนมากมาย ถึงการใช้จ่ายเงินแบบเกินตัว โดยไม่มองถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
โชคร้ายที่แทบไม่มีใครเรียนรู้จากเรื่องราวในอดีต … อินเตอร์ มิลาน จึงกลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดของการล่าความสำเร็จในโลกฟุตบอลยุคใหม่ ซึ่งอาจทำให้สโมสรแห่งนี้สูญเสียทุกอย่าง แลกกับถ้วยแชมป์เพียงใบเดียว