จับหนุ่มลวงเหยื่อลงทุนเงินดิจิทัล หมดไปกว่า 2 ล้าน แต่กลับถอนเงินออกมาไม่ได้
วันที่ 6 พ.ค.66 พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.1 บก.สอท.1 สั่งการให้ พ.ต.ต.ธเนศ มากสกุล สว.กก.4 บก.สอท.1 , ด.ต.ศุภกร แสงทวีสุข,ด.ต.ปรัชญา คตปัญญา , ส.ต.อ.อรรถพล สงศรี ผบ.หมู่.กก.4 บก.สอท.1 ร่วมกันจับกุมตัว นายนรพล ภิรมย์กิจ อายุ 34 ปี บุคคลตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 829/2566 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 ในความผิดฐาน”ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น,โดยทุจริตหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” โดยจับกุมได้บริเวณปากซอย 4 หมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
พ.ต.ต.ธเนศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.65 มีผู้เสียหายได้ใช้งานเฟซบุ๊ก และพบหญิงไทย เข้ามาพูดคุยด้วย และคุยกันเรื่อยมา กระทั่งประมาณปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คนร้ายได้ชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนซื้อขายเหรียญเงินสกุลดิจิทัล ซึ่งได้ผลตอบแทนสูง ประมาณร้อยละ 50 ของเงินลงทุน เมื่อผู้เสียหายสนใจ คนร้ายจึงส่งลิงค์มาให้เพื่อสมัครสมาชิก โดยพบว่าภายในเว็บไซต์มีฝ่ายบริการลูกค้าคอยให้คําแนะนํา และเป็นผู้ให้หมายเลขบัญชีธนาคารในการโอนเงินลงทุน
โดยผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในไลน์กับบุคคลที่แสดงตัวเป็นฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อใช้สื่อสารอีกทางหนึ่งด้วย สําหรับการนําเงินไปลงทุนกับเว็บไซต์ดังกล่าวนั้น ผู้เสียหายได้โอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีธนาคารต่างๆ ของกลุ่มคนร้ายจำนวนหลายครั้ง รวมมูลค่า 2,599,841 บาท ต่อมาไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง ก่อนมาแจ้งความร้องทุกข์
พ.ต.ต.ธเนศ กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนสอบสวน แผนประทุษกรรมของกลุ่มคนร้ายในคดี เรียกว่า ไฮบริดสแกม หรือ อินเวส เมนท์สแกม (Hybrid scam/Investment scam) คือกลุ่มคนร้ายจะติดต่อผู้เสียหายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อพูดคุยจนผู้เสียหายเกิดความชอบพอหรือความสนิทสนม หรือหลอกลวงให้หลงรัก จากนั้นกลุ่ม คนร้ายก็จะชักชวนผู้เสียหายลงทุนในประเภทต่างๆ ตามแต่กลุ่มคนร้ายจะหลอกลวงโดยในกรณีนี้ เป็นการหลอกลวงให้ ผู้เสียหายลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล ในแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ที่กลุ่มคนร้ายสร้างขึ้นมา
โดยก่อนการลงทุนกลุ่มคนร้ายจะอ้างว่ามีความรู้ความสามารถในการลงทุน และจะเป็นผู้สอนหรือบอกหรือให้ผู้เสียหายทําตามที่กลุ่มคนร้ายบอก และเมื่อผู้เสียหายสนใจก็จะส่งแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ในลักษณะลิงค์เว็ปไซต์หรือ URL ให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิก เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการลงทุน และเมื่อผู้เสียหายลงทุนและทําตามที่กลุ่มคนร้ายบอก ก็จะได้กําไรปรากฏในเว็ปไซต์ดังกล่าว เมื่อลงทุนในจํานวนที่มากขึ้นก็จะไม่สามารถถอนทรัพย์สินออกมาได้ กลุ่มคนร้ายจะใช้ข้ออ้างต่างๆ เช่น ผู้เสียหายต้องชําระค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียมก่อน หรือ ผู้เสียหายจะต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น โดยมีเจตนาที่จะไม่คืนเงินให้ผู้เสียหายมาแต่แรกอยู่แล้ว
คดีนี้กลุ่มคนร้ายใช้เฟซบุ๊กและใช้ภาพถ่ายส่วนตัวเป็นภาพหญิงสาว เพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความสนใจ จากนั้นพูดคุยตีสนิทกับผู้เสียหาย บัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวตั้งค่าความเป็นส่วนตัว สามารถเห็น การโพสรูปภาพ จํานวน 4 รูป ในห้วงวันที่ 12 ถึง 13 ธ.ค.65 ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นไม่ก็เห็นความเคลื่อนไหวทางบัญชีอีกแต่อย่างใด จากการตรวจสอบรายชื่อเพื่อนในบัญชีผู้ใช้งานดังกล่าว พบว่าล้วนแล้วแต่เป็นชายไทยอายุประมาณ 40 ถึง 60 ปี ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติสําหรับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วไป สันนิษฐานว่าเป็นบัญชีเฟซบุ๊กปลอม เบื้องต้นจึงนำผู้ต้องหาตามหมายจับส่งให้ พงส.กก.4 บก.สอท.1 ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป