กรมบังคับคดีร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อช่วยลดภาระผู้กู้ยืมเงิน พร้อมลดความเสี่ยงการถูกฟ้องร้องทางแพ่งหรือการยึดทรัพย์
นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า จากที่กรมบังคับคดีและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขหนี้ให้ประชาชนสำหรับหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมบังคับคดีกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ อันเป็นการบรรเทาภาระผู้กู้ยืมเงินช่วยลดการถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง รวมถึงการถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์
อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมบังคับคดีและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้กู้ยืมเงินที่ประสงค์จะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องเดินทางมาทำสัญญาที่สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่สามารถลงทะเบียนผ่านทาง QR Code ที่ขึ้นหน้าเว็บไซต์ กยศ. หรือจะเดินทางไปยังสำนักงานบังคับคดีในแต่ละจังหวัดที่ผู้กู้ยืมเงินมีภูมิลำเนา เพื่อแจ้งความประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้
- เริ่มปีใหม่! กทพ. เอาจริง เลี่ยงค่าผ่าน-จ่ายไม่ครบ ปรับสูงสุด 10 เท่า
- เช็คอาการ! เชื้อ ‘ไมโคพลาสมา’ คืออะไร-วิธีรับมือ รู้ตัวช้าเสี่ยงปอดอักเสบ
- รู้หรือไม่! สายปาร์ตี้ระวัง ‘ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ’ ดื่มไม่คิดอันตรายถึงชีวิต
สำนักงานบังคับคดีจะรวบรวมรายชื่อนำส่งให้สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และทางสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะนำส่งสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาให้สำนักงานบังคับคดี เพื่อให้ผู้กู้ยืมไปลงนามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่สำนักงานบังคับคดี และเจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดีลงนามเป็นพยาน เมื่อลงนามเสร็จจะนำส่งสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวมายังสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะลงนามในเอกสารและนำส่งสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวให้ผู้กู้ยืมเงินต่อไป
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมบังคับคดี 1111 กด 79 หรือสำนักงานบังคับคดีทุกแห่งทั่วประเทศ