จับมือหวานใจดู ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จาก ดาวหางฮัลเลย์ 21-22 ต.ค. 66

Home » จับมือหวานใจดู ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จาก ดาวหางฮัลเลย์ 21-22 ต.ค. 66
ดาวหางฮัลเลย์ 1-min

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จากเศษฝุ่นของ ดาวหางฮัลเลย์ ที่จะโคจรมาปรากฎตัวให้พวกเราเห็นในทุกๆ 76 ปี

กำลังเป็นที่โด่งดังสำหรับเพลงดาวหางฮัลเลย์ ของวง fellow fellow ที่เปรียบดวงดาวเสมือนความรักที่กำลังโคจรในอวกาศ เฝ้ารอวันที่ดาวหางจะโคจรมาให้เห็นอีกครั้ง ในทุกครั้งที่เคลื่อนเข้ามา รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปเรื่อยๆ มีขนาดเล็กลง 1-3 เมตรในแต่ละรอบ จนในที่สุด ดาวหางฮัลเลย์ ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต กลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบ ๆ ดวงอาทิตย์ต่อไปเพียงเท่านั้น

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จากเศษฝุ่นของ ดาวหางฮัลเลย์ ที่จะโคจรมาปรากฎตัวให้พวกเราเห็นในทุกๆ 76 ปี ในปีนี้ 2023 ดูฝนดาวตกได้ในคืนวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ตุลาคม อัตราการตกประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่ที่กลุ่มดาวนายพราน (Orion)

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ ดาวหางฮัลเลย์ โคจรและทิ้งเศษหินและฝุ่นไปในอวกาศนั้น เมื่อโลกโคจรตัดผ่าน แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงเอาเศษหินและฝุ่นเหล่านี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้เป็นดาวตก เป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตก “โอไรออนิดส์ (Orionids)”

ดาวหางฮัลเลย์-min

ดาวหางฮัลเลย์ 

ดาวหางฮัลเลย์ (Halley’s Comet) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1P/Halley นับเป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุด และมีหลักฐานบันทึกการพบเห็นมานานแล้วกว่า 2,000 ปี ตั้งชื่อตาม “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เป็นคนแรกที่สามารถคำนวณคาบของ ดาวหางฮัลเลย์ ได้ในปี ค.ศ. 1705

  • ในปี 1687 เป็นปีที่ “ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton)” ได้ตีพิมพ์ผลงานที่มีชื่อว่า “Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica” หรือที่เรารู้กันในชื่อ “กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน” อันโด่งดัง ที่หลายคนน่าจะเคยได้เรียนกันในวิชาฟิสิกส์ระดับ ม.ปลาย โดยในขณะนั้นฮัลเลย์ก็นับเป็นหนึ่งในคนใกล้ชิดของนิวตัน ซึ่งฮัลเลย์สนใจในเรื่องแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ว่าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ทั้ง 2 ดวงนี้ จะส่งผลต่อวงโคจรของดาวหางอย่างไรบ้าง
  • ในปี 1705 ฮัลเลย์ได้นำข้อมูลบันทึกตำแหน่งของดาวหางตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงศตวรรษที่ 17 มาคำนวณด้วยกฎของนิวตัน แล้วพบว่า มีดาวหาง 3 ดวงที่เคยปรากฏตัวในปี ค.ศ. 1531, 1607 และ 1682 ที่มีค่าคุณสมบัติในวงโคจรที่เหมือนกัน เขาจึงสรุปว่า นี่คือดาวหางดวงเดียวกันและจะโคจรกลับเข้ามาใกล้โลกทุก ๆ 74 – 79 ปี โดยในปี 1682 นั้น เป็นปีที่ฮัลเลย์สังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลของดาวหางดวงนี้ด้วยตัวเอง และฮัลเลย์ทำนายว่า ดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งในปี 1758
  • ผลปรากฏว่าในปี 1758 นั้น มีดาวหางปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าจริง ๆ แต่สุดท้ายแล้ว เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ก็ไม่ได้มีโอกาสได้มองเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาตัวเองอีกเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากเขาได้เสียชีวิตลงในปี 1742 ดาวหางดวงนี้จึงเป็นดาวหางดวงแรกที่จัดอยู่ในประเภทดาวหางคาบสั้น (คาบการโคจรสั้นกว่า 200 ปี) และเพื่อเป็นเกียรติให้กับเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ จึงตั้งชื่อดาวหางดวงนี้ว่า “ดาวหางฮัลเลย์” นั่นเอง

จากข้อมูลการศึกษาทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบว่า ดาวหางฮัลเลย์ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 กิโลเมตร มีคาบการโคจรเฉลี่ย 76 ปี มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งแต่ละรอบจะมีคาบการโคจรไม่เท่ากัน เนื่องจากวงโคจรถูกรบกวนโดยแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ โดยธรรมชาติของดาวหางนั้น มีลักษณะเป็น ก้อนน้ำแข็งสกปรก ในอวกาศ มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโมเลกุลที่ระเหิดได้ง่าย เช่น น้ำ มีเทน แอมโมเนีย และคาร์บอนไดออกไซด์ ปะปนอยู่กับเศษหินและฝุ่น ทุก ๆ ครั้งที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางจะได้ปริมาณรังสีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โมเลกุลของสสารเหล่านี้จะระเหิดเป็นแก๊สที่ฟุ้งกระจายไปในอวกาศ มีทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดเป็นหางของดาวหางที่สวยงามขึ้นมานั่นเอง

ดาวหางฮัลเลย์โคจรเข้ามาเฉียดดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อปีเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 และจากการคำนวณคาดว่า ครั้งถัดไปดาวหางจะเฉียดดวงอาทิตย์ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2061 ดังนั้น ในอีก 38 ปีข้างหน้า เราก็น่าจะได้เห็นหนึ่งในดาวหางที่สวยงามและสว่างที่สุด กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าให้พวกเราได้ชื่นชมกันอีกครั้ง

ดาวหางฮัลเลย์-min-1

นี่คือหน้าตาที่แท้จริงของดาวหางฮัลเลย์ที่ถ่ายโดยยานอวกาศ Giotto ในปี 1986 ที่ระยะห่างจากดาวหางเพียง 596 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกที่เราสามารถบันทึกภาพส่วนที่เป็นนิวเคลียสของดาวหางได้ บอกเลยว่าขอดูไกล ๆ จากโลกเหมือนเดิมน่าจะดีที่สุดแล้ว

ที่มา เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ

Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ