จับตา4ปมร้อนโควิดปี65
ผ่านมา 2 ปีแล้วกับมหาวิกฤตโรคโควิด-19 แม้ขณะนี้สถานการณ์ ของประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลง พบผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 3 พันรายต่อวัน ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีนจนครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส โดยวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน หรือกว่า 70% ของประชากร แต่ในปี 2565 ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นตามเดิม เพราะอาจจะกลับมาระบาดได้อีก โดยมี 4 เรื่องเด่นที่ต้องจับตาคือ
1.สายพันธุ์ใหม่มาอีก?
ในปี 2564 เราเผชิญกับเชื้อโควิดที่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยขณะนี้สายพันธุ์เดลตา ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ต่อมายังมีส่งท้ายปลายปีช่วงเดือนพ.ย.ด้วยสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตัวใหม่อย่าง “โอมิครอน” ที่แม้ข้อมูลเบื้องต้นจะบ่งบอกว่าแพร่เร็ว อาการน้อย ไม่รุนแรง ไม่ค่อยพบผู้เสียชีวิต แต่ส่วนหนึ่งมาจากหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนครอบคลุม ค่อนข้างกว้างแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าหากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุม จำนวนมากก็อาจมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจำนวนมาก ได้เหมือนสายพันธุ์อื่นๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่าจะมีข้อมูลจริงเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอนออกมามากขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งอาการ ความรุนแรง การแพร่กระจาย ประสิทธิผล ต่อวัคซีน
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องด้วย เพราะต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ซึ่งประเทศไทยมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ทุกสัปดาห์เพื่อเฝ้าระวัง อยู่แล้ว โดยการกลายพันธุ์ที่ต้องจับตาคือ จะมีผลทำให้แพร่เร็ว อาการรุนแรง และกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีนมากขึ้นหรือไม่
2.ใกล้เป็นโรคประจำถิ่นหรือยัง?
อย่างที่ระบุว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน แสดงความเห็นว่าเชื้อโควิดน่าจะกลายพันธุ์จนใกล้ไปสู่การเป็นโรค ประจำถิ่นแล้ว อย่างสายพันธุ์โอมิครอนที่แม้ข้อมูลทางการจะยังไม่ชัดเจน แต่แนวโน้มก็เป็นไปในแนวทางที่แพร่เร็ว ความรุนแรง ของโรคลดลง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ให้ได้ คล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมาก คงต้องจับตาดูแนวโน้มว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในปี 2565 หรือไม่
ส่วนการจะกำหนดว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มี กฎเกณฑ์ชัดเจนที่กำหนดว่าสถานการณ์ระดับใดถึงเข้าข่ายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งในระดับโลกองค์การอนามัยโลกจะพิจารณา สำหรับประเทศไทยก็มีผู้เชี่ยวชาญประชุมหารือเช่นกัน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลหลายส่วนพิจารณา อย่างข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเป้าหมายเรา คือต้องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่กระทบต่อเตียงรักษาพยาบาล และต้องอิงข้อมูลสากลด้วย คงต้องจับตาดูว่าจะมีเกณฑ์ที่ชัดเจนเมื่อไร และสถานการณ์ในบ้านเราเข้าเกณฑ์แล้วหรือไม่
3.วัคซีนเจนใหม่
ได้ในปีหน้าหรือไม่?
วัคซีนที่ฉีดกันอยู่ขณะนี้เป็นวัคซีนรุ่นเก่าที่พัฒนามาตั้งแต่เป็น สายพันธุ์อู่ฮั่น แต่เมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนอาจจะกระทบกับประสิทธิผลของวัคซีนได้ บริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิต วัคซีนโควิด-19 จึงมีการพัฒนาสูตรวัคซีนต่อเนื่องเช่นกันเพื่อให้รองรับกับไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด
คาดการณ์กันว่าวัคซีนรุ่น 2 จะออกมาในช่วงปี 2565 ส่วนจะครอบคลุม สายพันธุ์ใดบ้าง ประสิทธิผลจะเพิ่มหรือลดลงมากน้อยเพียงใดยังต้องรอ ข้อมูลออกมาอย่างเป็นทางการ
ขณะที่วัคซีนรุ่นเก่าในขณะนี้ก็ยังสามารถใช้ได้ โดยมีการฉีด เข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือประเทศต่างๆ ก็เริ่มแนะนำให้ฉีดแล้วเพื่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอนรวมถึง สายพันธุ์อื่นๆ
สำหรับประเทศไทยมีการเตรียมการรองรับในเรื่องนี้ โดยวัคซีนที่จัดซื้อสำหรับฉีดเป็นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ในปี 2565 เพื่อกระตุ้นภูมิ คุ้มกัน โดยเงื่อนไขในการเจรจาจัดซื้อไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ก็ระบุว่าหากบริษัทสามารถผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ออกมาได้ ก็ขอปรับการจัดส่งวัคซีนให้เป็นรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน รวมถึงหากสามารถขยายอายุลงมาในเด็กเล็กได้
ส่วนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็น mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีนใบยาสูบ หรือวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ก็อาจจะประสบปัญหาในการหากลุ่มอาสาสมัคร มาทดสอบวัคซีน เนื่องจากประชากรในประเทศมีการรับวัคซีน ไปมากแล้ว การทดสอบระยะต่างๆ ในปี 2565 อาจจะต้องไปยังพื้นที่ ห่างไกลเพื่อหากลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดจริงๆ หรืออาจต้องไปทดสอบใน ต่างประเทศ หรือเบนเข็มมาทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผล ของการเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งต้องลุ้นและเอาใจช่วยนักวิจัยว่า จะสามารถพัฒนาและผลิตออกมาสำเร็จในปีหน้าได้หรือไม่
4.ใช้ชีวิตปกติได้หรือยัง?
ในปี 2565 ยังคาดการณ์กันว่ายังต้องใช้ชีวิตคล้ายคลึงปี 2564 ไปอย่างต่อเนื่อง คงยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนตามปกติก่อนหน้าได้ เนื่องจากการระบาดยังไม่จบ ต้องรอให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นก่อน แต่จากการที่ควบคุมสถานการณ์ได้ การติดเชื้อ ที่ลดลง ก็ผ่อนคลายลงได้ระดับหนึ่ง กิจการต่างๆ น่าจะกลับมาเปิดได้ทั้งหมดโดยอยู่ในมาตรการของการควบคุมป้องกันโรคโดยเฉพาะ COVID Free Setting และการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด
โดยยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยคงสถานการณ์ให้การติดเชื้อไม่กลับมาเพิ่มสูงได้ ร่วมกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างรวดเร็ว สร้างภูมิคุ้มกันให้ทัน ก็จะลด การป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ไม่กระทบต่อการดูแลของระบบสาธารณสุข ก็ถือว่ายังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
แต่ก่อนจะมองระยะยาวในปี 2565 เรื่องใกล้ตัวคือเทศกาลปีใหม่ที่มาถึงนี้ที่จะมีการเดินทาง รวมกลุ่มทำกิจกรรม สังสรรค์ทั้งใน บ้าน นอกบ้าน ตามงานอีเวนต์ต่างๆ ยังต้องเข้มป้องกันตนเอง ขั้นสูงสุดตลอดเวลา เพราะหากประมาทการ์ดตกก็มีสิทธิ์กลับมา ระบาดสูงกันตั้งแต่ต้นปี ดังนั้น หลังกลับจากปีใหม่ก่อนเข้าทำงาน กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงตรวจ ATK เพื่อคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาด หรือหากองค์กรใดจะยกระดับตรวจเข้มทั้งหมดก็สามารถทำได้ และสามารถสุ่มตรวจต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ได้ตามมาตรการ COVID Free Setting ก็จะเพิ่มความปลอดภัยให้แก่องค์กร