บางคนอาจจะเคยทราบมาว่า การดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมไปถึงพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรค “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” แต่สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว อาจมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากขึ้น
>> ดื่มน้ำน้อย-กลั้นปัสสาวะ เสี่ยง “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ”
>> ทำไม? ชาวออฟฟิศถึงเสี่ยงเป็น “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ”
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ เสี่ยง “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ”?
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ อาจเสี่ยงกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยทางการแพทย์เรียกว่า โรคฮันนีมูน ซิสไตติส หรือโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังมีเพศสัมพันธ์ มีอาการทั้งหมดเหมือนกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบปกติ เพียงแต่จะมีอาการเกิดขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการปัสสาวะแสบ หรือขัด หรือแสบตอนที่กำลังปัสสาวะใกล้จะเสร็จ
- บางครั้งปัสสาวะอาจมีเลือดปน
- ปัสสาวะบ่อย
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังมีเพศสัมพันธ์
เมื่อช่องคลอด และทวารหนักอยู่ใกล้กับท่อปัสสาวะ ในขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจนำเชื้อโรคเข้าไปในท่อปัสสาวะได้ผ่านทางท่อปัสสาวะ นอกจากนี้หากมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด และรูทวารหนักในคราวเดียวกัน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด และท่อปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง จนเกิดบาดแผลเล็กๆ บริเวณช่องคลอด หรือใกล้ท่อปัสสาวะ และผู้หญิงที่อยู่ในภาวะช่องคลอดแห้ง หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ได้
การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังมีเพศสัมพันธ์
เบื้องต้นแพทย์จะจัดยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไตรเมโทพริมหรือยาไนโตรฟูแรนโทอิน ให้ผู้ป่วยกลับไปทานที่บ้าน และสังเกตอาการดูก่อนราวๆ 5-7 วัน และผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตัวเองว่ามีอาการหลังมีเพศสัมพันธ์จริงหรือไม่ หากมั่นใจว่าใช่ แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการซ้ำ
การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังมีเพศสัมพันธ์
- รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ ทั้งเพศชาย และเพศหญิง
- ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายหลังมีเพศสัมพันธ์ให้ดี
- หากมีอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้ซื้อยามาทานเองเด็ดขาด เพราะอาจก่อให้เกิดอาการ “ดื้อยา” ได้
- หากมีอาการ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรปล่อยให้มีอาการไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการรักษาใดๆ เพราะอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่มีอาการหนักขึ้น เสี่ยงติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน เช่น กรวยไต และท่อไต ซึ่งมีผลต่อไตในระยะยาว และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้