ทุกคนน่าจะรู้จัก “คอตตอนบัด” กันดีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะทำมาใช้เช็ดหูกันอยู่เป็นประจำ ยังทำมาทำความสะอาดพื้นที่เล็กๆ แคบๆ ได้อีกมากมาย เช่น ทำความสะอาดแผล ทำความสะอาดสะดือ หรือแม้กระทั่งเช็ดอายไลเนอร์ระหว่างที่คุณผู้หญิงล้างหน้า หรือกำลังแต่งหน้า แต่ที่จริงแล้ว คอตตอนบัด ห้ามนำมาเช็ดหูจริงหรือไม่ Sanook! Health เรามีคำตอบค่ะ
“คอตตอนบัด” ห้ามใช้เช็ดหู?
นพ. ภาสกร วันชัยจิรบุญ อายุรแพทย์ กล่าวว่า ปกติแล้ว ทางการแพทย์ “ไม่แนะนำ” ให้ใส่คอตตอนบัท หรือสิ่งใดๆ เข้าไปในรูหู เพราะว่าขี้หู หรือ earwax เป็นเรื่องธรรมชาติที่หูจะผลิตออกมา เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู ดังนั้นวิธีการทำความสะอาดหู เพียงแค่ใช้คอตตอนบัด หรือสำลีอื่นๆ เช็ดบริเวณรอบนอกรูหู หรือปากรูหู เพื่อทำความสะอาดในกรณีที่หูสกปรก หรือขี้หูไหลออกมานอกรูหูเท่านั้น
เพราะหากใช้คอตตอนบัดเข้าไปปั่นในหู อาจจะแคะหูจนเพลิน แรงเกินจนอาจเป็นแผลได้
เว็บไซต์ independent ของประเทศอังกฤษกล่าวว่า Q-Tip หรือคอตตอนบัดที่ผลิตอยู่ในประเทศอังกฤษ มีคำเตือนอยู่ข้างผลิตภัณฑ์เสมอ ว่าห้ามใช้ทำความสะอาดข้างในรูหู แต่คนส่วนมากมักไม่ใส่ใจ และใช้ทำความสะอาดข้างในรูหูกันเรื่อยมา นอกจากนี้ Dennis Fitzgerald แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ยังยืนยันอีกว่า พบผู้ป่วยที่มีปัญหากับหู จากการใช้คอตตอนบัดในรูหูอยู่ตลอดเวลา และได้แนะนำให้หยุดใช้ทุกครั้ง
วิธีทำความสะอาดหูที่ถูกต้อง
-
ห้ามแคะ ปั่นหูด้วยคอตตอนบัด หรือนำคอตตอนบัดไปชุบแอลกอฮอล์ น้ำเกลือ หรือของเหลวอื่นๆ แล้วนำมาแคะหูเด็ดขาด เพราะจำให้รูหูแห้งเกินไป และหากของเหลวนั้นไหลลงข้างในชั้นหู อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง อักเสบ จนอาจเป็นโรคหูน้ำหนวกได้
-
ใช้คอตตอนบัด ทำความสะอาดเพียงบริเวณใบหู และบริเวณปากรูหูเท่านั้น หากน้ำเข้าหูทุกครั้งเมื่ออาบน้ำสระผม ให้ใช้สำลีอุดหูก่อนสระผม
-
หากรู้สึกว่าน้ำเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลง เขย่าหัวเบาๆ หรือกระโดดเบาๆ ให้น้ำออกมาจากหูเอง หลีกเลี่ยงการใช้คอตตอนบัดเช็ดเข้าไปในรูหู
-
หากรู้สึกหูอื้อ น้ำเข้าหูนานกว่าปกติ รู้สึกว่ามีอะไรเข้าไปในหู หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบแพทย์ อย่าพยายามเช็ด หรือแคะข้างในหูเอง
หู เป็นอวัยวะที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อน เป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญไม่น้อยไปว่าการมองเห็น การได้กลิ่น รับรู้รส และการสัมผัส ดังนั้นควรรักษาเอาไว้ให้ดีๆ ไม่ฟังเพลงดังจนเกินไป ทำความสะอาดอย่างระมัดระวัง เท่านี้เราก็มีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับหูไปได้เยอะแล้วล่ะค่ะ